มาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 22:39
- Hits: 1178
มาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี โดยเห็นชอบให้รายจ่ายลงทุนภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวน น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีด้วย
2. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 22 และ มาตรา 23 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญ
สำนักงบประมาณเสนอว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี นั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท และมีภาระค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นลักษณะรายจ่ายประจำ วงเงินสูงถึง 2,475,600.1 ล้านบาท อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ ตามกฎหมาย ตามข้อผูกพัน ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการทางสังคมและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ รายจ่ายตามแผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละระดับ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายประจำที่จำเป็นต้องจัดสรร จึงได้กำหนดรายจ่ายลงทุน จำนวน 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนดังกล่าวมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณที่กำหนดไว้จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (1) กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้ จำนวน 700,000 ล้านบาท
ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ ให้แสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย
มาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี
มาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งคณะรัฐนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 เพื่อให้การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักงบประมาณได้ประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณามาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย
1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 จำนวน 10 โครงการ โดยประมาณการมูลค่ารวม 260,024.08 ล้านบาท และประมาณการวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย สำหรับการลงทุนโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนบน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท
3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 22 กำหนดว่า การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และมาตรา 23 กำหนดว่า ในการกู้เงินตามมาตรา 22 ถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศก็ได้
สำนักงบประมาณได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนรายการรายจ่ายลงทุนของหน่วยรับงบประมาณที่เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แต่ไม่สามารถใช้จ่ายจากงบประมาณได้เนื่องด้วยข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณตามเหตุผลความจำเป็นข้างต้น โดยพิจารณารายการลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อการวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิตและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5719
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ