รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 22:31
- Hits: 1237
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 (1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2563) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28/7 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ กนง. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ติดลบร้อยละ 0.85 ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 1-3 จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่หดตัว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่ำตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
2. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 อนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 โดยการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วงจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย (ไทย) ที่ต้องเผชิญความผันผวนในระยะข้างหน้าและยังมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
3. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวสูงร้อยละ 12.1 ตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่วนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมาตรการภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้ไม่มากนัก ภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกสินค้าทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ด้านการส่งออกบริการยังหดตัวสูง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดมากแม้จะเริ่มมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ทั้งนี้ กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวสูงและฟื้นตัวช้า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรง ส่วนอุปสงค์ในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8 ตามข้อสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวหลังการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึง โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เฉลี่ยติดลบที่ร้อยละ 0.56 ติดลบลดลงจากครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งติดลบร้อยละ 1.13 และต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงรวดเร็วตามความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงมากหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2563 ที่ร้อยละ 0.33 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จากผลสำรวจผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาวยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน อย่างไรก็ตาม กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 ตามแรงสนับสนุนเงินเฟ้อด้านอุปสงค์และอุปทานที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง และกำลังซื้อที่เริ่มกลับมาเป็นปกติหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และคาดว่าในปี 2564 และ 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 และ 0.4 ตามลำดับ
เสถียรภาพระบบการเงินยังมีเสถียรภาพแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนยังคงเปราะบางจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง (2) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจปรับดีขึ้นแต่ยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ และ (3) ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเปราะบางจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยและชาวต่างชาติที่หดตัวต่อเนื่อง
4. การดำเนินนโยบายการเงิน ประกอบด้วย
4.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 กนง. ได้มีการประชุมจำนวน 4 ครั้ง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เนื่องจากระบบเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ กนง. ยังเห็นว่าแม้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินยังกระจายไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น โจทย์สำคัญคือการเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด โดยใช้กลไกที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนสูง เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ
4.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมปรับอ่อนค่าลงจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงของการระบาดระลอกสองในไทย ส่วนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีความชัดเจนและข่าวประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 จากความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ ทั้งนี้ กนง. ได้ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้ร่วมกับ กค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เร่งผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท รวมถึงช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน
4.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ได้สนับสนุนให้ ธปท. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแผนการออกพันธบัตรภาครัฐให้สอดคล้องกัน เพื่อช่วยรักษาระดับอุปทานพันธบัตรให้เหมาะสมกับภาวะตลาดการเงิน และร่วมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการทางการเงินและสินเชื่อเพิ่มเติม โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อย เช่น มาตรการเพิ่มเติม เพื่อเสริมประสิทธิผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง กนง. จึงสนับสนุนมาตรการเชิงป้องกันของ ธปท. ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของปี 2563 ได้ไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 และต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ และเป็นแนวทางที่ช่วยให้ระบบสถาบันการเงินเข้มแข็ง สามารถรองรับความไม่แน่นอน และพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
4.4 การสื่อสารนโยบายการเงิน กนง. มุ่งเน้นการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินนโยบายการเงิน รวมทั้งประเด็นการหารือต่างๆ ที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดย กนง. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารโดยปรับรูปแบบโครงสร้างและเนื้อหาของผลการประชุมให้ชัดเจนมากขึ้น และปรับปรุงเนื้อหารายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ ให้สะท้อนความเห็นและมุมมองของ กนง. มากขึ้น พร้อมทั้งได้เผยแพร่รายงานนโยบายการเงินซึ่งประกอบด้วยบทวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อสื่อสารการวิเคาระห์เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน มาตรการที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่สาธารณชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5718
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ