สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 21:22
- Hits: 1038
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 และให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน. |
|
1. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน กตน. จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 2) คณะอนุกรรมการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประจำปี 3) คณะอนุกรรมการบูรณาการและประสานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 4) คณะอนุกรรมการด้านการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
|
2. สวัสดิการภาครัฐที่เกษตรกรแต่ละรายได้รับ ได้แก่ 1) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนการผลิตและกระบวนการผลิต ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายสินเชื่อแล้ว 1,577 ราย จำนวน 6,124 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564) (2) การดำเนินมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา ฤดูการผลิตห้วงปี 2563/64 โดยสำรวจพื้นที่การเช่าที่นาใน 70 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีผู้เช่านาและผู้ให้เช่านา 400,444 ราย ผู้ให้เช่า 416,481 ราย และมีพื้นที่การเช่านา 7,152,474 ไร่ และเจรจาลดค่าเช่าที่นาใน 20 จังหวัด มีผู้เช่า 16,232 ราย ผู้ให้เช่า 12,106 ราย และมีพื้นที่การเช่านา 14,950,208 ไร่ (3) การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ปีการผลิต 2563/64 โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 16 จังหวัด ลดค่าเช่าที่นาให้เกษตรกร 20,269 ราย พื้นที่เช่านา 145,187 ไร่ คิดเป็นจำนวนเงิน 8,841,206 บาท และงดเก็บค่าเช่าที่นาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 93 ราย พื้นที่เช่านา 916 ไร่ คิดเป็นจำนวนเงิน 653,080 บาท 2) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคา รายได้ และการตลาด ได้แก่ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,272,445 ราย ผลการเบิกจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร รวม 1,272,883 ราย เป็นเงิน 24,172.437 ล้านบาท (2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีผลการจ่ายเงินทั้งสิ้น 1,361,144 ราย เป็นเงิน 7,129.96 ล้านบาท 3) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้าน ๆ ได้แก่ (1) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2563 โดยโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร 7,565,880 ราย เป็นเงิน 113,304.40 ล้านบาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแล้ว 884,018 ราย เป็นเงิน 8,807 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564) (3) การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมในกลุ่มผู้พิการ ฯลฯ ปี 2560 มีผู้ได้รับอนุมัติ 11,469,185 คน (จาก 14,178,869 คน) และปี 2561 มีผู้ไดรับอนุมัติ 3,138,124 คน (จาก 4,590,599 คน) รวมผู้ได้รับอนุมัติ 14,607,309 คน (4) โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการฯ 66,017 ล้านบาท และได้จัดสรรงบประมาณ ปี 2564 แล้ว 2 งวด (เดือนตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564) เป็นเงิน 32,791 ล้านบาท (5) โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการทางสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม มท. จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนำไปจ่ายให้แก่คนพิการ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้จัดสรรงบประมาณโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ เป็นเงิน 9,200 ล้านบาท และ (6) การให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ในภาพรวมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เช่น ให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาทต่อคน นับตั้งแต่เดือนที่ลงทะเบียนจนมีอายุครบ 6 ปี |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) พิจารณาจัดทำรายละเอียดสวัสดิการภาครัฐที่เกษตรกรได้รับในรูปแบบการเกษตรประเภทต่างๆ เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อนำไปสู่การประเมินผลสัมฤทธิ์ และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านสวัสดิการและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สามารถดำรงชีวิตที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ต่อไป 2) ให้กระทรวงการคลัง (กค.) กษ. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำข้อมูลสวัสดิการภาครัฐของบุคคลหรือกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มอาชีพอิสระและรับจ้างทั่วไป และให้คณะอนุกรรมการบูรณาการฯ จัดทำชุดข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการภาครัฐที่เกษตรกรแต่ละรายได้รับเพื่อให้ทราบภาพรวมการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อย่างเป็นรูปธรรม 3) ให้ กษ. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตรในการทำเกษตรแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม 4) ให้ทุกส่วนราชการดำเนินการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจภายในส่วนราชการในทุกระดับเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานได้รับทราบงานที่มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ มติที่ประชุม : ให้คณะอนุกรรมการบูรณาการฯ พิจารณาดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำชุดข้อมูลในเรื่องดังกล่าว โดยรับความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. ไปพิจารณาด้วย และเสนอต่อ กตน. ต่อไป |
|
3. การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำแล้ง ได้แก่ 1) ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งในช่วงปี 2555 - 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการประกาศฯ ทุกปี ยกเว้นปี 2561 และ 2564 ที่ไม่มีการประกาศฯ 2) มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563 - 2564 โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีแผนการดำเนินการ เช่น เร่งเก็บกักน้ำฤดูแล้ง ปี 2563 - 2564 จำนวน 2,947 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดหาแหล่งน้ำสำรองดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 3) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมเฉพาะหน้า รวม 6 ครั้ง 23,264.36 ล้านบาท จำนวน 23,286 แห่ง |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) ให้เพิ่มกลไกการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัด และเร่งรัดจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขน้ำแล้งร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 2) ให้มีการพัฒนาระบบการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ มติที่ประชุม : รับทราบและให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5710
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ