การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 21:12
- Hits: 996
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบหมายดังนี้
1. รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ โดยให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. มอบหมายให้ สศช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำและการเสนอแผน/โครงการ รวมถึงการใช้งานระบบ eMENSCR แก่หน่วยงานต่างๆ ในชั้นปฏิบัติอย่างทั่วถึงและเข้าใจง่าย รวมทั้งประสานงานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนากลไกและระบบติดตามและประเมินผลที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างระบบต่างๆ
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติรายงานว่า
1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ได้พิจารณาในส่วนของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่
1.1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่มีกลไกสำคัญคือ แผนพัฒนาในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนพัฒนาจังหวัด โดยแผนพัฒนาในระดับพื้นที่จัดเป็นแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2560 , 3 ธันวาคม 2562 และ 15 ธันวาคม 2563) และมีความสำคัญคือเป็นจุดเชื่อมต่อของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ต่างๆ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อแผนแม่บทฯ ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ ดังนั้น แผนพัฒนาในระดับพื้นที่จึงต้องสามารถถ่ายระดับเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมบนหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship : XYZ1)
1.1.2 ปัจจุบันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่มีประเด็นท้าทายที่สำคัญ อาทิ (1) ความหลากหลายและแตกต่างของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และบริบทการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ (2) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงานในพื้นที่ไม่สามารถสะท้อนการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) ได้อย่างชัดเจน และ (3) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลผ่านระบบ eMENSCR ในปัจจุบันที่อาจยังไม่ครอบคลุมการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
หลักการการขับเคลื่อน ในขั้นพื้นฐาน |
• แผนในระดับพื้นที่ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจถึงทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถวิเคราะห์ช่องว่างเชิงนโยบายและช่องว่างการพัฒนาของพื้นที่ นำไปสู่การจัดทำแผนในระดับพื้นที่ที่มีการถ่ายระดับจากยุทธศาสตร์ชาติ (XYZ) บนหลักการ ดังนี้ 1) ยึดนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ตามที่คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) กำหนด รวมทั้งยึดหลักการจัดทำแผนตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2560, 3 ธันวาคม 2562 และ 15 ธันวาคม 2563) 2) ถ่ายระดับเป้าหมายการพัฒนา โดยแผนพัฒนาภาคจะต้องพิจารณาเป้าหมายย่อยของแผนแม่บทฯ ทั้ง 140 เป้าหมาย พร้อมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพ ความต้องการ และทรัพยากรของภาค จากนั้นจึงพิจารณาองค์ประกอบและปัจจัยเฉพาะของห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Final Value Chain Thailand) ของเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ภาคมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนาภาค ทั้งนี้ในส่วนของแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด ให้ดำเนินการถ่ายระดับตามขั้นตอนเดียวกันกับของแผนพัฒนาภาค โดยให้เริ่มพิจารณาจากเป้าหมายของแผนพัฒนาภาค และแผนกลุ่มจังหวัดตามลำดับ 3) กำหนดและมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพของแต่ละเป้าหมายของแผนต่างๆ ในระดับพื้นที่ โดยให้มีความสอดคล้องกับหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทย่อย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานเพื่อบูรณาการการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 |
โครงการ และแผนระดับที่ 3 |
• การจัดทำโครงการและการดำเนินงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ในการดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) มองเป้าหมายร่วมกัน โดยหน่วยงานเจ้าภาพและที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาช่องว่างการพัฒนา (gap analysis) และทบทวนความเหมาะสมของห่วงโซ่คุณค่าของเป้าหมายแผนในระดับพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการ (2) จัดทำโครงการและดำเนินงาน โดยหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ข้อมูลจากห่วงโซ่คุณค่า ข้อมูลสถิติ สถานการณ์ และงานวิจัย ประกอบการดำเนินการ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) (3) จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของโครงการ (prioritization) และ (4) จัดทำแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี และรายปี และจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด |
การติดตาม/ประเมินผลผ่าน eMENSCR |
• ทุกหน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงาน โดยนำเข้าโครงการและแผนระดับพื้นที่ในระบบ eMENSCR |
1.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
1.2.1 หลักการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติผ่านกลไกต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลสนับสนุน (data driven) บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence base) อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตสำคัญจากการประมวลโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 ในระบบ eMENSCR และกระบวนการจัดทำโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย (1) การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence base) โดยข้อมูลสนับสนุน อาทิ ข้อมูลสถิติสถานการณ์ ข้อมูลเชิงวิชาการ งานวิจัยที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ และผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานของรัฐบนหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (2) การรายงานผลการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในระบบ eMENSCR ยังไม่สามารถสะท้อนผลผลิตและผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนระดับต่างๆ รวมทั้งยังมีข้อจำกัดของความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันของข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อประกอบการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการติดตาม ตรวจสอบ ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ
1.2.2 ดังนั้น เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติสามารถดำเนินการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างแท้จริง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
หลักการการขับเคลื่อน ในขั้นพื้นฐาน |
• ข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติต้องมีการจัดทำและพัฒนา ดังนี้ 1) ข้อมูล สถิติ สถานการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและปรับปรุงข้อมูล สถิติ สถานการณ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ให้มีความเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งนำเข้าข้อมูลดังกล่าวบนฐานข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open-D) ซึ่งเชื่อมโยงชุดข้อมูลสารสนเทศระหว่างหน่วยงานของรัฐ 2) งานวิจัย/การศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนและการกำกับงานวิจัย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องกำหนดทิศทางการวิจัย และการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายแผนแม่บทฯ และห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยของ 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการงานวิจัย และนำเข้างานวิจัยที่แล้วเสร็จในระบบ ตามรูปแบบที่ สศช. กำหนด |
โครงการ และแผนระดับที่ 3 |
• การจัดทำโครงการและการดำเนินงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) โดยให้นำข้อมูล สถิติ สถานการณ์ งานวิจัย มาประกอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) ในทุกขั้นตอนด้วย • การจัดทำแผนระดับที่ 3 หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563 และ 27 เมษายน 2564) โดยต้องนำข้อมูล สถิติ สถานการณ์ งานวิจัย มาประกอบการจัดทำแผนด้วย |
การติดตาม/ประเมินผล ผ่าน eMENSCR |
• นำเข้าข้อมูลบนระบบที่เกี่ยวข้อง 1) นำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงาน พร้อมทั้งส่งอนุมัติข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2) นำเข้าข้อมูลแผนระดับที่ 3 ในระบบ eMENSCR ที่ผ่านการส่งอนุมัติข้อมูล แผนระดับที่ 3 และรายงานผลสัมฤทธิ์ • เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลระบบ eMENSCR กับระบบฐานข้อมูลด้านงบประมาณ โดยเฉพาะระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ของกรมบัญชีกลาง และระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) ของสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา • พัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) โดย สศช. จะนำ AI มาใช้ในการสนับสนุนการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับต่างๆ ในระบบ eMENSCR เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลโครงการ/การดำเนินงาน และใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ที่มีความหลากหลายเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถติดตามประเมินผลโครงการ/การดำเนินงานต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
_____________________________
1 หลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship: XYZ) เป็นหลักการสำคัญในการถ่ายระดับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ (Z) ผ่านสู่เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (Y) และแปลงไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องของหน่วยงานของรัฐ (X) (อ้างอิง : เอกสาร “การมองเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทฯ” ของ สศช.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5709
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ