รายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 20:11
- Hits: 887
รายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 10 – 12 มีนาคม 2564 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มีนาคม 2564) เห็นชอบให้สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยกรมประชาสัมพันธ์ (กปส) ดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+ 3 ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล] โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) เสนอ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 15 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 รัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนได้กล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อการประชุม “อาเซียน ประชาคมดิจิทัล ที่ครอบคลุมพลเมืองอาเซียนทุกกลุ่ม” โดยประเทศไทย ในฐานะประธานด้านสื่อและสารนิเทศอาเซียน ได้กล่าวถึงมุมมอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนในการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสื่อสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล การให้บริการโทรทัศน์เพื่อคนพิการ การสื่อสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
1.2 สำนักเลขาธิการอาเซียนได้เสนอแนวทางการทำงานด้านสื่อและการประชาสัมพันธ์ 5 ข้อ แก่ประเทศสมาชิก ได้แก่ (1) การใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การสื่อสาร (2) การเพิ่มขีดความสามารถของสื่อดิจิทัลและการสื่อสารสาธารณะ (3) การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเข้าถึงการบริการดิจิทัลในพื้นที่นอกเขตเมือง (4) การกำหนดความหมายเชิงลึกของการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ แต่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน และ (5) การสร้างแพลตฟอร์ม สำหรับการหารือกับประเทศคู่เจรจา+1 และประเทศคู่เจรจา+3 (Plus One and Plus Three Partner Platforms) เพื่อส่งเสริมให้มีช่องทางสื่อสารที่มีนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น
1.3 ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน สาธารณรัฐสิงคโปร์ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียนได้ดำเนินกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์หลักทั้ง 4 ข้อ โดยร้อยละ 37 เป็นโครงการภายใต้กลยุทธ์ที่ 1 การส่งเสริมความร่วมมือ ความตกลง และการเข้าถึงสื่อ
1.4 ที่ประชุมรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ กรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน และกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการรับรู้ เข้าถึง และใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล สำหรับแถลงการณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน (Joint Media Statement)
2. การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 6 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมฯ ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยยกตัวอย่างความร่วมมือสำคัญระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา+3 ได้แก่ ปีแห่งการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน-จีน การร่วมพัฒนาเทคโนโลยี การออกอากาศระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น และความร่วมมือด้านภาพยนตร์อาเซียน-เกาหลี และเชื่อมั่นว่าอาเซียนและประเทศคู่เจรจา+3 จะสานต่อความร่วมมือที่แข็งแกร่งโดยยึดค่านิยมหลักของการได้รับประโยชน์ร่วมกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทั้งดีและร้าย เพื่อนำพาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่การเป็นประชาคมสำหรับคนทุกกลุ่ม
2.2 รัฐมนตรีสารนิเทศประเทศคู่เจรจา+3 ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.2.1 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านสื่อระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา+3 โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาความร่วมมือและสร้างความเชื่อมั่นในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (2) การประสานนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และ (3) การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการสื่อสารและสร้างประชาคมดิจิทัลสำหรับทุกคนโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีต้อนรับสื่อมวลชนจากทั่วโลกในการเข้าร่วมเส้นทางสายไหมด้านเครือข่ายข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายสื่อสารมวลชน
2.2.2 ญี่ปุ่นได้แสดงความตั้งใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านระบบและเนื้อหารายการโทรทัศน์มากขึ้น และนำเสนอนโยบายด้านสื่อและสารนิเทศสำหรับชาวญี่ปุ่นทั้งด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การสื่อสารภาพที่มีความคมชัดสูงระดับ 4K และ 8K ผ่านระบบ 5G และการส่งเสริมการสื่อสารที่ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล
2.2.3 สาธารณรัฐเกาหลีได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากข่าวลวง ได้แก่ การสนับสนุนการผลิตข้อมูลข่าวสารโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านสื่อสารมวลชนดิจิทัล (Digital Journalism) แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสื่อและการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของข่าวลวงและการรู้เท่าทันสื่อ
2.3 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รายงานผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 6 และแผนงานการส่งเสริมความร่วมมือด้านสื่อและสนเทศระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา+3 พ.ศ. 2561 – 2566 โดยสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ได้เสนอตัวเป็นประเทศที่จะเสนอโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสื่อและสนเทศระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา+3
3. การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 7 มีกำหนดจะจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5702
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ