ผลการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 9
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 May 2021 20:06
- Hits: 931
ผลการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 9
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ผลการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 9 (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ทั้งนี้ให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปฏิญญาพนมเปญของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 9 มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 อย่างไรก็ตามมีการเพิ่มประเด็น ดังนี้
1.1 แสดงความห่วงใยและกังวลถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในปี 2562 และ 2563 ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ระบบนิเวศ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
1.2 ย้ำความสำคัญในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS กับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
1.3 เห็นชอบข้อเสนอของประเทศไทย (ไทย) ในการผลักดันหลักการใหม่เรื่อง “อนุภูมิภาคที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้” ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือของแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี
1.4 เสนอให้รัฐมนตรีท่องเที่ยว ACMECS พัฒนาแผนการส่งเสริมโครงการร่วมด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19
1.5 แสวงหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงข้อเสนอของไทยในการตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS
1.6 ย้ำเจตนารมณ์ของผู้นำที่ระบุในปฏิญญากรุงเทพ ค.ศ. 2018 เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาในอนุภูมิภาค รวมถึงยินดีต่อการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นที่ไทยได้ประกาศไว้แล้ว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.7 รับทราบข้อเสนอของญี่ปุ่นในการจัดการประชุมผู้นำ ACMECS สมัยพิเศษ ที่กรุงโตเกียว ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณเดือนกันยายน – พฤศจิกายน) ปี 2564
ทั้งนี้ปฏิญญาพนมเปญ ประกอบด้วย เอกสารแนบ 3 ฉบับ ที่กำหนดแนวทางขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือในระดับปฏิบัติ ได้แก่ (1) เอกสารขอบเขตการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (2) เอกสารแนวคิดกลไกการทำงานของคณะกรรมการประสานงาน 3 เสา ภายใต้แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 – 2023) และ (3) รายชื่อโครงการจำเป็นเร่งด่วนของ ACMECS
2. ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆสรุปได้ ดังนี้ (1) ยินดีต่อพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของ ACMECS ตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนุภูมิภาค การสร้างเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ ตลอดจนการย้ำเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนแผนงานตามสาขาความร่วมมือ 3 เสาของแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ต่อไปอย่างเข้มแข็ง (2) สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่างๆ ให้มีความคืบหน้า นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกเห็นชอบตามข้อเสนอของไทยที่ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ และประสานการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ (3) ย้ำความสำคัญของการยกระดับความร่วมมือของประเทศสมาชิก ACMECS ในการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาและป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งเห็นชอบการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานร่วมกันภายใต้กลไกความร่วมมือพหุภาคี ตลอดจนสนับสนุนให้ยาและวัคซีนป้องโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะที่ประชาชนในอนุภูมิภาคสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและมีราคาที่สมเหตุสมผล และ (4) ชื่นชมบทบาทนำของไทยในการขับเคลื่อน ACMECS โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เครือรัฐออสเตรเลีย และสาธารณรัฐอิสราเอล
3. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงโดยย้ำความสำคัญของการร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือ ACMECS อย่างรอบคอบ มุ่งพัฒนาศักยภาพให้ ACMECS มีความเข้มแข็งจากภายใน โดยย้ำว่าการพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามพรมแดน ยังคงเป็นสาขาความร่วมมือที่สำคัญและจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศสมาชิก ACMECS ต้องพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส ซึ่งได้เสนอให้ผลักดันหลักการใหม่เรื่อง “อนุภูมิภาคที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้” เพื่อสร้างอัตลักษณ์เชิงแข่งขันดึงดูดการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มุ่งไปสู่การยกระดับพื้นฐานของการพัฒนาอนุภูมิภาคอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5701
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ