ผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 May 2021 12:11
- Hits: 971
ผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 6 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
1.1 แหล่งข้อมูลที่รับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ (ร้อยละ 89.8) สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ (ร้อยละ 53.5) การพูดคุยกับเพื่อน/ญาติ/คนในครอบครัว/บุคคลทั่วไป (ร้อยละ 38.0) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ร้อยละ 21.1)
1.2 การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนร้อยละ 66.7 ระบุว่ามีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง ร้อยละ 17.5 เกือบทุกครั้ง ร้อยละ 6.7 เป็นบางครั้ง ร้อยละ 3.3 นานๆ ครั้ง และร้อยละ 5.8 ไม่มีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งเลย
1.3 การมีส่วนร่วมทางการเมือง 3 อันดับแรก ได้แก่ การให้ความร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาประเทศ เช่น เสียภาษี ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นพลเมืองที่ดี (ร้อยละ 82.2) การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในกลุ่มเพื่อน/ญาติ/คนในครอบครัว/คนรู้จัก (ร้อยละ 81.0) และการติดตามผลคะแนนการเลือกตั้ง (ร้อยละ 70.7)
1.4 ความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาล มีคะแนนเฉลี่ย 3.20 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) โดยประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาลอยู่ในระดับกลางๆ /ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 44.7)
1.5 การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 46.4) และประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 39.3)
1.6 การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อหน่วยงานภาครัฐในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 51.4) และมีข้อเสนอแนะแนวทางการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับมากขึ้น ลงพื้นที่สอบถามความต้องการ รับฟังปัญหา ติดตามข้อมูลต่างๆ ของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 หน่วยงานภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากประชาชนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53.5) รับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
2.2 หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูล/ข้อเท็จจริงต่อประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
2.3 หน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในทุกระดับโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ เช่น การรับฟังความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ
2.4 หน่วยงานภาครัฐควรมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการ ความคิดเห็น รับฟังปัญหา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลต่อการดำเนินโครงการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน/หมู่บ้าน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5401
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ