ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 May 2021 11:50
- Hits: 857
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะรวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤตของทุกปี (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) เช่น การนำน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มากที่สุด การขยายพื้นที่และเวลาในการจำกัดรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปที่ใช้น้ำมันดีเซลไม่ให้เข้ามาภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น และ (2) มาตรการระยะยาว เช่น มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิดต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษอากาศ เป็นต้น
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ทส. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว มีความเห็นว่ารายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าวส่วนใหญ่มีความเหมาะสมในหลักการและเป็นการศึกษาที่มีความครอบคลุมในหลายมิติ และจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. การดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤตของทุกปี (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) เช่น ต้องนำน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ขยายพื้นที่และเวลาในการจำกัดรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไป ที่ใช้น้ำมันดีเซล ไม่ให้เข้ามาภายในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เป็นต้น |
เนื่องจากการนำน้ำมันยูโร 5 ไปจำหน่ายในสถานีน้ำมันจำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บและการขนส่งน้ำมันที่แยกออกมาโดยเฉพาะจากระบบการขนส่งน้ำมันตามปกติ จึงมีผู้ค้าน้ำมันเพียงบางรายเท่านั้นที่มีศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น การนำน้ำมันยูโร 5 ไปจำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลในช่วงวิกฤติ ควรดำเนินการโดยขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน |
|
2. มาตรการระยะยาว 2.1 มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิด การคมนาคมขนส่งทางถนน การเผาชีวมวลในที่โล่งและภาคอุตสาหกรรม 2.2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มลพิษอากาศ |
1. มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิด 1.1 การคมนาคมขนส่งทางถนน (1) กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้ประกาศปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์จากไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน เป็นไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป (2) จะได้เร่งรัดให้มีการออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษสำหรับยานพาหนะต่างแดนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศต่อไป (3) สำหรับการปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการตรวจวัดควันดำที่ใช้ในการตรวจสภาพด้านมลพิษประจำปีสำหรับรถที่ใช้น้ำมันดีเซล นั้น คค.เห็นว่าการตรวจวัดควันดำแบบทึบแสงโดยวิธีการตรวจวัดควันดำแบบแสงไหลผ่านบางส่วน เป็นวิธีการที่เหมาะสมแล้ว (4) เนื่องจากรถที่ใช้งานบนท้องถนนมีการเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน ประกอบกับมีการดัดแปลงสภาพรถ เป็นเหตุให้รถมีความไม่ปลอดภัยในการใช้งาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งปล่อยมลพิษทางอากาศและทางเสียงเกินกว่าเกณฑ์ที่ราชการกำหนด จึงสมควรมีการลดเกณฑ์อายุรถที่จะต้องผ่านการตรวจสภาพด้านมลพิษก่อนการเสียภาษีและต่อทะเบียนประจำปี (5) ตช. ได้ดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับรถยนต์ที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศและเสียงแล้ว 1.2 การเผาชีวมวลในที่โล่ง (1) ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567 และข้อเสนอแนะของ กมธ. อย่างจริงจัง เพื่อจะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขต กทม. และปริมณฑล ให้มีประสิทธิผลและประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 1.3 ภาคอุตสาหกรรม (1) ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งสามารถกำจัดสารเจือปนในอากาศประเภทก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้วรวมทั้งได้มีการดำเนินการให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันชนิดพื้นฐานของประเทศไทยแล้วและให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นน้ำมันชนิดทางเลือก (2) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ คือ การเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาเซียนได้ริเริ่มจัดตั้งเครีอข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนขึ้น เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองของอาเซียนด้วยแล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5397
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ