สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 May 2021 10:57
- Hits: 845
สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอสรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 (1) ที่กำหนดให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.1 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น
สถานะโครงการ |
จำนวน (เส้นทาง) |
ระยะทาง (กิโลเมตร) |
ตัวอย่างโครงการ |
เปิดให้บริการแล้ว |
9 |
170.38 |
- สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ (37.10 กิโลเมตร) - สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างก่อสร้าง |
6 |
150.76 |
- สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต (26.30 กิโลเมตร) - สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (30.40 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างประกวดราคา |
2 |
37 |
- สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (23.60 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน |
5 |
55.24 |
- สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา (14.80 กิโลเมตร) - สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) (20.14 กิโลเมตร) |
โครงการส่วนต่อขยาย ปี 2570 - 2572 |
10 |
140.03 |
- สายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย (38 กิโลเมตร) - สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ (39.91 กิโลเมตร) |
1.2 รายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วย (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับสะพานข้ามแยก เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและการขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน จำนวน 12 แนวเส้นทาง วงเงินรวม 271,741 ล้านบาท และการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพและ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน วงเงินรวม 1,937 ล้านบาท เช่น การจัดพื้นที่จอดและจรตามแนวขนส่งมวลชนและการเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค (ถ้ามี) ของโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทฯ ให้ คค. ทราบทุก 6 เดือน และนำเสนอให้ คจร. ทราบต่อไป
1.3 ผลการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่ง คค. [สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)] จัดทำขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เช่น การปรับปรุงระยะทางและจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างทางวิ่งและตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุง และการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การขับเคลื่อนการคมนาคมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
1.4 ความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ซึ่ง คค. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ได้จัดทำ สรุปสาระสำคัญผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ บนพื้นฐานเทคโนโลยีรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็กเปรียบเทียบกับกรณีทางเลือกเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมและทบทวนผลการศึกษาวิเคราะห์ใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ก่อนนำเสนอ คจร. ในคราวต่อไป
2. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
2.1 การดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยที่ประชุมมีมติ (1) เห็นชอบในหลักการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โดยให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่มีความพร้อมก่อน และให้ กทพ. พิจารณาแนวทางหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณแยกเกษตรที่มีข้อจำกัดทางด้านกายกาพในปัจจุบันด้วย และ (2) ให้ กทพ. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบและแนวเส้นทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างให้มีความชัดเจนโดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง การเวนคืน ระยะเวลาดำเนินการความยากง่ายในการดำเนินการ ผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรอบวงเงินลงทุนและกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน และเสนอ คจร. ก่อนดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุม เช่น กทพ. ควรเร่งรัดการเจรจาขอใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อจะได้สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยมาใช้เป็นแหล่งเงินทุน ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป
2.2 แนวทางการปฏิรูปเส้นทางระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยที่ประชุมมีมติ (1) เห็นชอบแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทางมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการจัดระบบการจราจรทางบกและลดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2) เห็นชอบให้ คค. [กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สนข. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ] บูรณาการการดำเนินการตามแผนการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในอนาคตอาจมีการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการเดินรถรองรับการขยายตัวของเมืองและเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่นให้สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้มีเส้นทางการเดินรถครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ภายใต้การจัดการและระบบการเดินรถในโครงข่ายเดียวและการกำหนดค่าโดยสารในอัตราเดียว รวมทั้งอาจมีการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางจริง โดยให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุม เช่น แนวทางการกำหนดค่าโดยสารในอัตราเดียว ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป
2.3 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการทางหลวงพิเศษฯ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเนื่องจากเป็นโครงการเพื่อบรรเทาสภาพปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)
2.4 แผนการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง (ทล.) และบนทางพิเศษของ กทพ. โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการพัฒนาฯ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ คค. บูรณาการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับระบบ M-Flow หรือการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ M-Flow รวมทั้งมอบหมายให้ คค. (ทล. ขบ. และ กทพ.) ศึกษาแนวทางการดำเนินการมาตรการเพิ่มเติม รวมถึงการออกระเบียบและการแก้ไขระเบียบที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการทางกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางสากล
2.5 โครงการการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาแผนแม่บทฯ ซึ่งแบ่งแผนเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) แผนระยะที่ 1 ดำนินการในช่วงปี 2563-2569 พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง และ (2) แผนระยะที่ 2 ดำเนินการในช่วงปี 2570-2582 พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพิ่ม 1 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 100.55 กิโลเมตร และมอบหมายให้ คค. (ขบ.) ดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ตามผลการศึกษาต่อไป พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานของระบบขนส่งสาธารณะและการส่งเสริมการใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไปดำเนินการต่อไปด้วย
A5396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ