โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 May 2021 00:42
- Hits: 1798
โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติ ดังนี้
1. รับทราบแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
1.1 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ
1.1.1 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10
1.1.2 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5
1.1.3 ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ร้อยละ 0
1.2 หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ต้นละ 30 บาท
1.3 กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด
1.4 จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมเพื่อสางใบอ้อยให้สะดวกต่อการตัดอ้อยสด
1.5 ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด
1.6 ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสดในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก
1.7 ขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยในอัตราที่เหมาะสมอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต
1.8 สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลอื่นๆ มาใช้ในไร่อ้อย
2. อนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามที่ อก. เสนอ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเป็นกรณีเฉพาะเป็นการชั่วคราว ภายในกรอบวงเงินโครงการ 6,065,550,000 บาท ประกอบด้วย
1) การช่วยเหลือเกษตกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลังได้เห็นชอบความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายแล้ว ในวงเงิน 5,934,000,000 บาท
2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. สำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท วงเงิน 131,550,000 บาท
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. ในสภาวะปัจจุบันได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ไอเสียรถยนต์ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น การประกอบโรงงานอุตสาหกรรม และหมอกควันที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง โดยในช่วงเดือนธันวาคม - เมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีการเผาอ้อยเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อก. จึงนำเสนอแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ มาเพื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบ และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
2. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
2.1 โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563
2.1.1 การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท ในอัตราตันอ้อยละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน
จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 190,104 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือ 6,321.99 ล้านบาท ปริมาณอ้อยที่ได้รับการช่วยเหลือ 74.38 ล้านตัน
2.1.2 การช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด วงเงิน 3,500 ล้านบาท ในอัตราตันอ้อยละ 92 บาท (ช่วยเหลือทุกตันอ้อยสดที่ส่งเข้าโรงงาน)
จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 133,519 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือ 3,457.49 ล้านบาท ปริมาณอ้อยสดที่ได้รับการช่วยเหลือ 37.58 ล้านตัน
2.1.3 ชาวไร่อ้อยได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 190,104 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น จำนวน 9,779.48 ล้านบาท (จากวงเงินโครงการฯ 10,000 ล้านบาท)
2.1.4 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจากร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดในฤดูการผลิตปี 2561/2562 เป็นร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
2.2 ผลจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ผ่านมา
2.2.1 ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
2.2.2 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
2.2.3 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เริ่มเปิดหีบอ้อยเข้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 63.34 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 46.87 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 74 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด อ้อยไฟไหม้ 16.47 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
3. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีรายละเอียด ดังนี้
3.1 วัตถุประสงค์
3.1.1 เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) ในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร
3.1.2 เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคตได้
3.2 แนวทางการดำเนินงาน
3.2.1 ช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดยให้มีอัตราเงินช่วยเหลือเท่ากับเงินส่วนต่างรายได้ค่าแรงต่อวันที่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้น้อยกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน
3.2.2 ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง โดยที่โรงงานจะต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาชาวไร่อ้อย พร้อมจำนวนตันอ้อยสดที่ส่งโรงงาน สำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่างๆ นั้น จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อยรายย่อยที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อยสด เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยรายย่อยโดยตรง
3.2.3 กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือ หลังปิดหีบของฤดูการผลิตปี 2563/2564 เพียงครั้งเดียว (คาดว่าจะจ่ายเงินในระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564)
3.3 หลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือ
ชาวไร่อ้อยในภาคอุตสาหกรรมที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานทุกราย ดังนี้
3.3.1 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย
3.3.2 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอลหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
3.3.3 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กษ.
3.3.4 การจ่ายเงินช่วยเหลือตามข้อ 3.3.1 - 3.3.3 จะจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดย “อ้อยสดคุณภาพดี” หมายความว่า อ้อยสดที่ไม่ถูกไฟไหม้ ยอดไม่ยาว ไม่มีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อ้อยตามธรรมชาติปนเปื้อน เช่น ดิน ทราย กาบ ใบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งจะทำให้รายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง
4. มาตรการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว
5. อก. ได้รับแจ้งจาก ธ.ก.ส. ว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการสำรองจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ ไปพลางก่อน และได้รับแจ้งจาก กค. ว่าอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตามที่ อก. เสนอ มีความเหมาะสมแล้ว
6. อก. แจ้งว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน มีความเหมาะสม โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้
6.1 อัตราค่าแรงงานตัดอ้อยสด
6.1.1 ตารางเปรียบเทียบค่าแรงการตัดอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ (ข้อมูลเฉลี่ยทั่วประเทศ)
ประเภท |
ปริมาณอ้อนที่ตัดได้ (ตันต่อวัน) |
ค่าแรง (บาทต่อตัน) |
ค่าแรงที่ได้รับ ณ ปัจจุบัน (บาทต่อวัน) |
ตัดอ้อยสด |
2.125 |
200.00 |
425.00 |
ตัดอ้อยไฟไหม้ |
6.000 |
112.50 |
675.00 |
6.1.2 อัตราค่าแรงงานที่ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับอยู่ที่ 425 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าแรงงานที่ผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้ได้รับที่ 675 บาทต่อวัน ส่งผลให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดจะได้รับค่าแรงต่อวันต่ำกว่าการรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้อยู่วันละ 250 บาท
6.1.3 ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดจะต้องได้รับการช่วยเหลือด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 250 บาทต่อวัน เพื่อให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้ และเนื่องจากผู้รับจ้างตัดอ้อยสดสามารถตัดอ้อยได้วันละ 2.125 ตัน การช่วยเหลือด้านต้นทุนเพื่อเป็นค่าจ้างตัดอ้อยสดจึงต้องอยู่ที่ตันละ 120 บาท (เทียบเท่าค่าแรงต่อวันเพิ่มขึ้น 255 บาท) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้
6.2 ต้นทุนการผลิตอ้อย
ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับที่อัตรา 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 23 กุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในระดับต่ำกว่ากับต้นทุนการผลิตอ้อย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยในคราวประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เฉลี่ยทั้งประเทศที่ 1,133.91 บาทต่อตัน อยู่ที่ 213.91 บาทต่อตัน ทำให้การผลิตอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ดังนั้น การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานในครั้งนี้ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต และมีผลตอบแทนเพียงพอสำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว
7. อก. แจ้งว่าการขอรับเงินอุดหนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 จากงบประมาณแผ่นดิน จะไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามพันธกรณีในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า
8. ในส่วนของแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ อก. เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบนั้น คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
8.1 ปรับแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
8.1.1 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกินร้อยละ 10 คาดการณ์ปริมาณอ้อย 80 ล้านตัน
8.1.2 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกินร้อยละ 5 คาดการณ์ปริมาณอ้อย 100 ล้านตัน
8.2 เห็นควรขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลภายใต้โครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในอัตราที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตนั้นๆ ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5394
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ