ผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 May 2021 09:06
- Hits: 730
ผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลกระทบของความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ และสังคมของเด็ก เยาวชน และครอบครัว และผลการดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีข้อสังเกตในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กที่มาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับรองจากภาครัฐ 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ และปกครอง) เป็นเหตุให้เด็กเหล่านั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ และประเด็นการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก สตรี และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตดังกล่าวและสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศอ.บต. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 พิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกต |
ผลการพิจารณา |
|
1. ประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กที่มาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ และปกครอง) ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กเหล่านั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามวัตถุประสงค์ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ “เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้เป็นธรรมที่ทั่วถึง รวมทั้งลดความหวาดระแวงทุกรูปแบบและฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน” |
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2563 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ผ่านการรับรอง 3 ฝ่าย มีจำนวน 311 ราย กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว ยาเสพติด และอื่นๆ หากกลุ่มดังกล่าวคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดสามารถขอรับการช่วยเหลือเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 กรณีมีความเดือดร้อนเรื่องคุณภาพชีวิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถช่วยเหลือและให้การสงเคราะห์เบื้องต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือติดตามภารกิจของหน่วยงานได้ - กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ศอ.บต. ได้ประสานขอข้อมูลกลุ่มผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเร่งสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนโลกทัศน์ใหม่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค มีการชี้แนะการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีด้วยกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ กำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษด้วยการจัดทำระบบข้อมูลผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศและประสานการพิจารณาให้การช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบต่อไป - ศอ.บต. กำลังดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยการปรับปรุงโครงสร้างการช่วยเหลือเยียวยา กลไกเกี่ยวกับระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือเยียวยา และการช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตในรูปแบบ case management
|
|
2. ประเด็นการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็ก สตรี และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการบูรณาการและบทบาทหน่วยงานที่รับหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติในพื้นที่ของภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดจนหน่วยงานความมั่นคง การปรับระบบหลักเกณฑ์ นิยาม การให้ความช่วยเหลือเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบ การพัฒนาคุณภาพคน โดยจัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน โครงการพัฒนาคุณภาพผู้ดูแล และการมีระบบติดตามและเก็บข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ |
ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินการในการช่วยเหลือ ดูแล และติดตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ - การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ - ร่างระเบียบการช่วยเหลือเยียวยานอกเหนือหลักเกณฑ์ โดยผ่านคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน - สร้างความเข้าใจในระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ - สนับสนุนองค์กรและหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ เช่น รายได้ ความเป็นอยู่ เป็นต้น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5129
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ