(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 May 2021 08:41
- Hits: 773
(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ]
2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ แปลงแผนไปสู่การปฏิบัติงานของหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนและปฏิบัติตามภารกิจการปฏิบัติงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ
3. เห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ตามข้อ 2. รายงานผลการปฏิบัติตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ปีละ 1 ครั้ง (ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี) และมอบหมายให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) ยธ. รับผิดชอบกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผล และกำหนดแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินงานและนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โอนงบประมาณรายจ่าย โอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร แล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในโอกาสแรกก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนและปฏิบัติตามภารกิจการปฏิบัติงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพ นิรนาม ตามกรอบระยะเวลาที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการดังกล่าว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม (ค.พ.ศ.) ในการประชุม ค.พ.ศ. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างนโยบาย แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม พ.ศ. 2562 – 2565 (ร่างนโยบายฯ) และให้ฝ่ายเลขานุการ (สนว.) ดำเนินการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ. 2558 โดยเพิ่มเติมในส่วนคนนิรนามให้ครอบคลุมการดำเนินงานในปัจจุบันก่อน แล้วจึงขอรับการจัดสรรงบประมาณ และอัตรากำลังพลเพิ่มต่อไป
2. ยธ. ได้เสนอร่างนโยบายฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ตามขั้นตอน โดยสภาพัฒนาฯ ได้มีการพิจารณาแผนปฏิบัติการฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และได้มีมติเห็นชอบในหลักการ โดยเห็นควรให้ปรับชื่อและระยะเวลาของแผนเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสอดคล้องกับห้วงเวลาของปีงบประมาณปัจจุบัน และเห็นควรมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ เช่น (1) ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนาม ที่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ครอบคลุมข้อมูลคนไทยที่สูญหายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเตรียมระบบรองรับเพื่อให้สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่สูญหายกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ) (2) ควรจัดทำข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและบุคคลสูญหาย (3) ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมในการสอดส่อง ป้องกันและติดตามบุคคลสูญหายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และ (4) ควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนผลลัพธ์และกำหนดค่าเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงควรมีการติดตามประเมินผลเมื่อสิ้นสุดแผนฯ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายเลขานุการของ ค.พ.ศ. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของสภาพัฒนาฯ แล้ว และ ค.พ.ศ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้มีมติรับทราบแล้ว
3. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. วิสัยทัศน์ |
บูรณาการและพัฒนามาตรฐานงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม เพื่ออำนวยความยุติธรรม ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเชื่อมั่นของประชาชน |
2. พันธกิจ |
2.1 ยกระดับมาตรฐาน ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม 2.2 พัฒนาเครือข่ายการทำงานและความร่วมมือในการให้บริการงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามอย่างทั่วถึง 2.3 บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม 2.4 ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม |
3. วัตถุประสงค์ |
3.1 นโยบายและแผนการปฏิบัติงานมีความทันสมัยและสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 3.2 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ 3.3 ประชาชนสามารถเข้าถึงการรับบริการในงานด้านการติดตามคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 3.4 เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการติดตามคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม |
4. ผลสัมฤทธิ์ |
เกิดการบูรณาการในการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินงานด้านการติดตามคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ให้มีมาตรฐาน และประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างทั่วถึง ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และประชาชนได้รับการบริการอย่างเสมอภาค |
5. ตัวชี้วัด |
5.1 จำนวนแนวทางปฏิบัติด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามที่เป็นไปตามมาตรฐาน และผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ 5.2 จำนวนเครือข่ายที่มีการปฏิบัติงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามครอบคลุมทุกพื้นที่ 5.3 ระดับความสำเร็จในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม 5.4 ระดับความสำเร็จในการพัฒนากฎหมายด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม |
4. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยแผนปฏิบัติราชการ 4 เรื่อง โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณ สรุปได้ ดังนี้
แผนปฏิบัติราชการเรื่อง…/โครงการสำคัญ |
วงเงินงบประมาณ (ล้านบาท) |
|||
ปี 2563 |
ปี 2564 |
ปี 2565 |
รวม |
|
1. พัฒนามาตรฐานและระบบงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย 10 โครงการ เช่น (1) โครงการพัฒนามาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม (2) โครงการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษสำหรับการติดตามด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม เป็นต้น |
8.03 |
0.70 |
216.68 |
225.41 |
2. เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 4 โครงการ เช่น (1) โครงการบูรณาการความร่วมมือในการตรวจพิสูจน์คนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม (2) โครงการเชิดชูเกียรติ ผู้ปฏิบัติงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนินาม เป็นต้น |
1.15 |
1.10 |
15.33 |
17.58 |
3. พัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูลคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม และ (2) โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการบริหารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ |
3.10 |
4.40 |
17.40 |
24.90 |
4. พัฒนากฎหมายให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนากฎหมายด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม และ (2) โครงการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม |
- |
- |
- |
- |
รวมทั้งสิ้น |
12.28 |
6.20 |
249.41 |
267.89 |
5. แนวทางการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. การอำนวยการและ ปฏิบัติการ |
กลไกการบริหารจัดการและอำนวยการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) กลไกระดับชาติ โดยมี ค.พ.ศ. ทำหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการบริหารจัดการ กำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ (2) กลไกระดับภารกิจ โดยมีหน่วยงานระดับกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่าย รับผิดชอบการดำเนินงานตามภารกิจและกฎหมายที่กำหนด โดยเน้นการบูรณาการตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และบริหารงบประมาณทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานให้เกิดเอกภาพ รวมถึงกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด และ (3) กลไกระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ รับผิดชอบในการปฏิบัติงานและเฝ้าระวังในพื้นที่ |
|
2. การบูรณาการแผนและงบประมาณ |
(1) สนว. ทำหน้าที่บริหารศูนย์ปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามแห่งชาติ (ศูนย์ปฏิบัติการฯ) โดยมีผู้อำนวยการ สนว. ในฐานะเลขานุการ ค.พ.ศ. ทำหน้าที่บูรณาการแผนและงบประมาณในการขับเคลื่อนแผนด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ในภาพรวมของประเทศ และ (2) ส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดทำแผนปฏิบัติการระดับหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติการฯ และสถานการณ์ปัญหาด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม รวมถึงของงบประมาณในแต่ละส่วนราชการ |
|
3. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ |
(1) สนว. เป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำหน้าที่จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูลด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม เช่น ฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ สารพันธุกรรม (DNA) ฐานข้อมูลทางทันตกรรม เป็นต้น และ (2) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม |
|
4. การติดตาม รายงาน และประเมินผลการดำเนินงาน |
(1) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติ การฯ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพตามรูปแบบ วิธีการ และห้วงเวลาที่กำหนดเป็นประจำทุก 3 เดือน และให้หน่วยปฏิบัติการระดับพื้นที่ รายงานการปฏิบัติงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำหน้าที่รวบรวม ประมวล วิเคราะห์ และผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อ ค.พ.ศ. และ (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ประเมินผลการดำเนินงานโดยหน่วยงานภายใน หน่วยงานภายนอก หรือสถาบันทางวิชาการ และสำรวจประเมินสถานภาพปัญหาคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ |
|
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
เช่น สนว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ยธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น |
6. ยธ. เห็นว่า (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ จะช่วยให้การบริหารจัดการในการติดตามคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม มีระบบแบบแผนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเบ็ดเสร็จในที่เดียว มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถสืบค้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์คนหาย คนนิรนามและศพนิรนามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5127
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ