ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 May 2021 08:22
- Hits: 847
ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ตามที่คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาพรวมการเบิกจ่ายเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผลการเบิกจ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 - วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปได้ ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)
รายการ |
วงเงินงบประมาณ/ แผนการใช้จ่าย1 |
เบิกจ่ายแล้ว |
ร้อยละ เบิกจ่าย |
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
3,285,963 |
1,292,914 |
39.35 |
เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี |
215,282 |
113,913 |
52.91 |
เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมเงินงบประมาณ)2 |
315,398 |
129,084 |
40.80 |
โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 25633 |
430,152 |
171,700 |
39.92 |
รวม |
4,246,795 |
1,707,611 |
40.21 |
หมายเหตุ : 1. แผนการใช้จ่ายเงินที่หน่วยงานคาดว่าจะใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2. เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมเงินงบประมาณ) เป็นข้อมูลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 มกราคม 2564
3. ข้อมูลการกู้เงินและวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติและผลเบิกจ่ายสะสมถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 105 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2,554,929 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 79,306 ล้านบาท (1 ตุลาคม 2563 - 31 มกราคม 2564) คิดเป็นร้อยละ 39.96
2. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2.1 ผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปได้ ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)
รายการ |
วงเงินงบประมาณ |
เบิกจ่ายแล้ว |
การใช้จ่าย |
งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
3,285,963 |
1,292,914 (ร้อยละ 39.35) |
1,483,206 (ร้อยละ 45.14) |
รายจ่ายประจำ |
2,637,296 |
1,179,754 (ร้อยละ 44.73) |
1,195,918 (ร้อยละ 45.35) |
รายจ่ายลงทุน |
648,667 |
113,160 (ร้อยละ 17.44) |
287,288 (ร้อยละ 44.29) |
รายจ่ายลงทุนกรณีไม่รวมงบกลาง |
586,673 |
113,145 (ร้อยละ 19.29) |
287,263 (ร้อยละ 48.96) |
เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี |
215,282 |
113,913 (ร้อยละ 52.91) |
214,438 (ร้อยละ 99.61) |
หมายเหตุ : 1. เป้าหมายการใช้จ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภาพรวมร้อยละ 46.67 รายจ่ายประจำร้อยละ 50 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 36.67
2. ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2563 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการเบิกจ่ายภาพรวมจำนวน 1,090,303 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.07
3. แผนการใช้จ่ายไตรมาส 2 (ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564) ภาพรวมจำนวน 1,825,589 ล้านบาท รายจ่ายประจำ 1,459,592 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 365,997 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) 342,499 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาพรวมสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แต่ยังมีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) ต่ำกว่าเป้าหมาย
2.2 ผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 การจัดลำดับผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนเทียบกับแผนการใช้จ่ายเงินไตรมาสที่สอง พบว่า กระทรวงที่มีผลการใช้จ่ายสูงสุด ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีโครงการลงทุนรวม 140,726 รายการ วงเงิน 648,667 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 113,160 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.44 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564) โดยพบปัญหาและอุปสรรคในการเบิกจ่ายเงิน เช่น (1) หน่วยงานบางแห่งไม่เร่งโอนจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานในภูมิภาค และ (2) รายจ่ายลงทุนบางส่วนยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน กำหนดราคากลางหรือมีการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบรายการให้เหมาะสมกับการใช้งานและวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ (1) ให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับติดตามให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีสำนักงานในส่วนภูมิภาคเร่งการโอนจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานในส่วนภูมิภาคทันทีที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ และ (2) ให้ความสำคัญกับความพร้อมของโครงการก่อนเริ่มดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำร่างขอบเขตของงานและกำหนดราคากลางไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างช้าภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ได้รับอนุมัติจัดสรร
3. การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ สรุปได้ ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)
ปี |
กรอบการลงทุน |
ผลการเบิกจ่ายสะสม |
ร้อยละ |
2563 (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563) |
311,853 |
253,822 |
81 |
2564 (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564) |
320,961 |
78,337 |
24 |
หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ (1) งานก่อสร้าง เช่น การนำเข้าอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมทดสอบระบบจากต่างประเทศเกิดความล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งมีการปรับแบบและแก้ไขรายการในสัญญา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานของงานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกัน (2) การจัดซื้อจัดจ้าง เช่น รายละเอียดในข้อกำหนดของร่างขอบเขตของงานยังขาดความรัดกุม หรือมีรายละเอียดที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการภายในของรัฐวิสาหกิจ และ (3) การวางแผนการเบิกจ่าย ไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้หรือความสามารถในการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายที่แท้จริงของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับติดตามการเตรียมความพร้อมของรัฐวิสาหกิจ เช่น (1) จัดทำร่างขอบเขตของงานและร่างสัญญาโดยคำนึงถึงผลกระทบของงานอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ความคล่องตัวในการดำเนินโครงการ และความเหมาะสมของงวดงานที่จะส่งมอบและเบิกจ่าย และ (2) เตรียมรายการเอกสารที่ผู้รับจ้างต้องจัดส่งเพื่อประกอบการเบิกจ่ายหรือตรวจรับ
4. การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 105 โครงการ มูลค่ารวม 2.55 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการที่รัฐดำเนินการเอง 83 โครงการ มูลค่า 2.03 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการลงนามในสัญญาแล้ว 30 โครงการ มูลค่า 701,714 ล้านบาท และ (2) โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 22 โครงการ มูลค่า 521,956 ล้านบาท ซึ่งมีการลงนามในสัญญาแล้ว 2 โครงการ มูลค่า 111,335 ล้านบาท
5. การเบิกจ่ายโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ จำนวน 256 โครงการ วงเงิน 748,666 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 469,258 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.68 ของวงเงินอนุมัติ สรุปได้ ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)
แผนงาน |
จำนวนโครงการ ที่อนุมัติ |
วงเงิน |
ผลการเบิกจ่าย |
ร้อยละ |
1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 (กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท) |
16 |
19,698 |
3,904 |
19.82 |
2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยา ช่วยเหลือ และชดเลยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (กรอบวงเงิน 600,000 ล้านบาท) |
9 |
595,853 |
407,491 |
68.39 |
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (กรอบวงเงิน 355,000 ล้านบาท) |
231 |
133,115 |
57,863 |
43.47 |
รวมทั้งสิ้น |
256 |
748,666 |
469,258 |
62.68 |
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีแผนงานการเบิกจ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้ กค. กู้เงินฯ จำนวน 209 โครงการ วงเงิน 430,152 ล้านบาท โดยมีสถานะโครงการ ณ สินเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประกอบด้วย (1) แผนงานหรือโครงการที่มีแผนการเบิกจ่ายเกินกว่า 3 เดือน แต่ยังไม่มีผลการเบิกจ่าย จำนวน 2 โครงการ เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (2) แผนงานหรือโครงการที่มีกรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และมีผลการเบิกจ่ายต่ำกว่าร้อยละ 80 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม จำนวน 3 โครงการ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (3) แผนงานหรือโครงการที่ดำเนินการล้าช้าและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ จำนวน 4 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และ (4) โครงการกลุ่มจังหวัดที่มีแผนเบิกจ่ายภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 116 โครงการ
6. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัดมีการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างเข้มข้นตลอดปี เพื่อให้เม็ดเงินจากการเบิกจ่ายงบลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระทรวงที่ได้รับงบลงทุนจำนวนมาก ให้เร่งดำเนินการและใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งนี้ ให้นำผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5126
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ