การยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำและ/หรือโควตาภาษี (Undertaking Agreement)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 May 2021 00:41
- Hits: 4794
การยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำและ/หรือโควตาภาษี (Undertaking Agreement)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำและ/หรือโควตาภาษี (Undertaking Agreement) ตามร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ประกาศผลชั้นต้น (Preliminary Determination) กำหนดให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนชั่วคราวสำหรับสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย เป็นระยะเวลา 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดอัตราอากรเรียกเก็บ
- อัตราอากรตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราว (CVD) ในอัตราร้อยละ 4.65
- อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราว (AD) ในอัตราร้อยละ 44.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย (ภายใต้พิกัด 1701.99.10 1701.99.90 1701.91.00 และ 1702.90.91)
- อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราว (AD) ในอัตราร้อยละ 29.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทรายดิบ (ภายใต้พิกัด 1701.13.00 และ 1701.14.00)
ทั้งนี้ อาจพิจารณาบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนย้อนหลังสำหรับสินค้าน้ำตาลที่นำเข้าเวียดนาม 90 วัน ก่อนวันบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนชั่วคราว
2. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบการยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำและ/หรือโควตาภาษี (Undertaking Agreement) ตามร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่ดำเนินการใดๆ กรณีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุน (Anti-Subsidy : AS) จะมีผลกระทบ ดังนี้
1. ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องราคาจำหน่ายเนื่องจากสินค้าต้องเสียภาษีมากกว่าคู่แข่งในประเทศอาเซียน
2. สูญเสียโอกาสทางการตลาด เนื่องจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลประมาณ 700,000 – 800,000 ตันต่อปี แม้ว่าการนำเข้าจะดำรงอยู่แต่มีโอกาสที่ premium น้ำตาลทรายของไทยจะลดต่ำลง ทำให้รายได้ลดน้อยลง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5111
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ