ยืนยันการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (DFQF)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 04 November 2014 22:58
- Hits: 5298
ยืนยันการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (DFQF)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. ยืนยันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556
1.1 การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free / Quota Free : DFQF) รวมเป็นสินค้าทั้งสิ้น 6,998 รายการ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด
1.2 การแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจาก “การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา” เพื่อพิจารณาดำเนินการระงับสิทธิ การใช้มาตรการป้องกันภายใต้โครงการฯ การทบทวนมาตรการป้องกันผลกระทบ การทบทวนโครงการฯ และกำกับดูแลโครงการฯ ในภาพรวม
2. ให้กระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำหนดหลักเกณฑ์กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับโครงการ DFQF และให้การยกเว้นภาษีสินค้า DFQF ตามวัตถุประสงค์ของ “การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา” และเมื่อ กค. ดำเนินการแล้ว พณ. จะแจ้งข้อมูลโครงการ DFQF ไปยังองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. DFQF เป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 6 ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อปี 2548 ซึ่งที่ประชุมได้ระบุให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้สิทธิพิเศษแก่ LDCs โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและระบบโควตา (DFQF) แก่สินค้าของ LDCs ทุกรายการ ภายในปี 2551 ทั้งนี้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้ดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละประเทศ โดยมีความยืดหยุ่นในเรื่องระยะเวลาและจำนวนรายการสินค้า
2. การยกเลิกภาษีนำเข้าและระบบโควตา (DFQF) แก่สินค้าของ LDCs อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านการนำเข้าวัตถุดิบ จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2556 และครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 12กรกฎาคม 2556 และได้รับความเห็นชอบในหลักการการให้สิทธิพิเศษแก่ LDCs โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (DFQF) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว
3. ในการประชุมรัฐมนตรี WTO สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3 – 6 ธันวาคม 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้แถลงในที่ประชุมฯ ว่าประเทศไทยตกลงที่จะให้สิทธิพิเศษแก่ LDCs โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและระบบโควตา (DFQF) ในอัตราประมาณร้อยละ 73 ของรายการสินค้าทั้งหมด
4. รายการสินค้า DFQF ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (19 พ.ย. 56) จำนวน6,998 รายการ (เป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด) เป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการกำหนดโควตานำเข้า โดยในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าดังกล่าวประมาณ 142,682 และ 193,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งเป็นการนำเข้าจาก LDCs 7,133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากกลุ่มประเทศ CLM (Cambodia Laos Myanmar) ภายใต้อาเซียน ได้แก่ กัมพูชา สสป.ลาว และเมียนมา จำนวน 4,993 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยแบ่งเป็น
4.1 สินค้าเกษตร จำนวน 1,227 รายการ คิดเป็นร้อยละ 76.98 ของรายการสินค้าเกษตรทั้งหมด 1,594 รายการ เช่น สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลาแช่เย็น พืชมีชีวิต ถั่วลิสง ไม้ไผ่ เมล็ดโกโก้ เป็นต้น
4.2 สินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 5,771 รายการ คิดเป็นร้อยละ 72.46 ของรายการสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด 7,964 รายการ เช่น สินแร่และหัวแร่ดีบุก เครื่องจักสาน กระดาษ ด้าย ฝ้าย ผ้าทอ เพชรไม่ได้ตกแต่ง นิกเกิล อลูมิเนียม ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น
5. ในปี 2556 ประเทศที่ได้รับสิทธิพิจารณาจากบัญชีประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา 34 ประเทศ เอเชีย 14 ประเทศ ละตินอเมริกาและคาริบเบียน 1ประเทศ รวมทั้งสิ้น 49 ประเทศ
6. กำหนดระยะเวลาของโครงการฯ เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยเริ่มการยกเว้นภาษีใน วันที่ 1 มกราคม 2558 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และให้พิจารณาการต่ออายุโครงการล่วงหน้าอย่างน้อย 6-12 เดือน โดยทำการทบทวนโครงการทุก 2 ปี เพื่อพิจารณาดำเนินการระงับสิทธิ ทบทวนหลักเกณฑ์ป้องกันผลกระทบที่เหมาะสม
7. พณ. เห็นว่าการดำเนินการให้สิทธิพิเศษแก่ LDCs โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและระบบโควตา (DFQF) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าไปยังประเทศพัฒนาน้อยที่สุดซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา และเอเชียใต้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของไทย อาทิ ปลาสคิปแจ็ก ปลาทูน่า ขนแพะและขนแกะ ปอกระเจา น้ำมันเมล็ดทานตะวัน สินแร่ และแอมโมเนียมซัลเฟต โดยไม่ต้องยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งมีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อตลาดในประเทศสูงกว่า ตามหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation Treatment : MFN) ของ WTO
8. การดำเนินการดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกว่ารัฐบาลไทยปฏิบัติตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี WTO และตามแถลงการณ์ที่ผู้แทนอย่างเป็นทางการได้ประกาศไว้ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยยึดมั่นต่อข้อผูกพันที่มีต่อองค์การระหว่างประเทศและต่อระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม ซึ่งหากไม่ดำเนินการต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ประเทศต่าง ๆ มีต่อนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะประเทศ LDCs นอกอาเซียนที่มีการค้ากับประเทศไทยสูง อาทิ เยเมน แองโกลา วานูอาตู บังคลาเทศ แซมเบีย อิเควทอเรียลกินี และไลบีเรีย
9. การยกเว้นภาษีนำเข้าและโควตามีกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2558 โดยก่อนถึงขั้นตอนดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินการอื่นๆ ด้วย อาทิ การจัดทำประกาศกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีสินค้า DFQF การกำหนดมาตรการปกป้องภายใต้โครงการฯ การทบทวนมาตรการป้องกันผลกระทบการทบทวนโครงการฯ และกำหนดดูแลโครงการฯ ในภาพรวม และการจัดทำหนังสือแจ้ง (Notification) ส่งไปยัง WTO เพื่อให้ข้อมูลดำเนินการของไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557