มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 28 April 2021 02:58
- Hits: 8627
มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ ตามที่ กค. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้ กค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. สถาบันการเงินประชาชน เป็นองค์กรการเงินของชุมชนซึ่งได้จดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระดับตำบล
2. ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรการเงินชุมชนยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่องค์กรการเงินชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะเริ่มดำเนินการตามภารกิจของสถาบันการเงินประชาชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิกสถาบันการเงินประชาชน กค. พิจารณาแล้วจึงได้เสนอมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน โดยตราเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ
2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร และ
2.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เพื่อลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
3. ปัจจุบันมีองค์กรการเงินชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
ลำดับ |
ชื่อโรงงาน |
สถานที่ตั้ง |
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง |
1. |
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้านสระแก้ว ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนตำบลบ้านเป้า |
ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ |
25 สิงหาคม 2563 |
2. |
สถาบันการเงินชุมชนบ้านคูตีน ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนตำบลน้ำขาว |
ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา |
12 พฤศจิกายน 2563 |
3. |
สถาบันการเงินชุมชนบ้านทานพอ ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนบ้านทานพอ |
ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช |
16 ธันวาคม 2563 |
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีที่คาดว่าจะได้รับหากไม่มีการดำเนินการตามมาตรการนี้ประมาณปีละ 18 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณปีละ 2.6 ล้านบาท
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนไปเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน
1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากสถาบันการเงินประชาชนทุกบัญชีรวมกันของสมาชิกแต่ละราย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับ เงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่ได้รับจากการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน
1.4 ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่สถาบันการเงินประชาชนออกให้กับสมาชิกใน การทำธุรกรรม
2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ อัตราร้อยละ 0.01 สำหรับการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนเป็นสถาบันการเงินประชาชน ในกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคล บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นที่มิใช่องค์กรการเงินชุมชนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โอนให้แก่สถาบันการเงินประชาชน ในส่วนที่ผู้โอนและผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่ชำระ
2.2 เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อัตราร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกของสถาบันการเงินประชาชนกับสถาบันการเงินประชาชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 เมษายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4873
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ