รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 28 April 2021 00:46
- Hits: 7740
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 2.59 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 2.87 สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.16
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก
ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียน (5) ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป (15) เอเชียใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.99 ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 1.16 การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.77 ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 601,507.35 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.87 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 610,035.50 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.39 ดุลการค้าขาดดุล 8,528.15 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,188,881.30 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.04 การนำเข้า มีมูลค่า 1,211,933.26 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 5.85 ขาดดุล 23,051.96 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.0 (YoY) ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 46.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ42.9 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 22.9 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฯลฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 20.7 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 3.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย กัมพูชา และลาว) สินค้าที่ หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 35.5 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาด อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ขยายตัวดีในกัมพูชา มาเลเซีย ลาว และญี่ปุ่น) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวดีในจีน ออสเตรเลีย อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวดีในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง) ข้าว หดตัวร้อยละ 4.9 (หดตัวในตลาดฮ่องกง และแคนาดา แต่ขยายตัวดีในสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ จีน และญี่ปุ่น) 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.0 (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 20.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย เวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 14.8 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.7 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น) เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 12.3 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 9.5 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสหรัฐฯ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว ร้อยละ 3.6 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 24.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 93.0 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวได้ดีในลาว ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หดตัวร้อยละ 7.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน แต่ขยายตัวได้ดีในฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และเยอรมนี) สิ่งทอ หดตัว ร้อยละ 12.5 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ จีน และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวได้ดีในเวียดนาม ฮ่องกง และจีน) 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.7
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.1 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นร้อยละ 19.7 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ และการกลับมาขยายตัวของการส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ร้อยละ 0.2 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 5.2 โดยการส่งออกไปจีน และเอเชียใต้ขยายตัวร้อยละ 15.7 และร้อยละ 13.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน (5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 17.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) และทวีปแอฟริกาขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 18.3 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ ลาตินอเมริกากลับมาขยายตัวร้อยละ 14.0 อย่างไรก็ตาม ตะวันออกกลาง (15) กลับมาหดตัวร้อยละ 9.9 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ยังคงหดตัวร้อยละ 11.8
2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การกระจายวัคซีน ต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค (2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 4 (2) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ร้อยละ 6.64) สินค้านิวนอร์มอล (ร้อยละ 6.81) อุตสาหกรรมหนัก (ร้อยละ 3.76) แฟชั่น (ร้อยละ 2.36) เป็นต้น (3) จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 เมษายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4860
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ