รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 April 2021 21:47
- Hits: 9648
รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอและให้เสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รายงานดังกล่าวประกอบด้วย 1) การรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการฯ 2) การรายงานประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของรัฐสภา 3) สาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และ 4) การดำเนินการในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้
1. การรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563
1.1 กิจกรรมที่สำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ
1.1.1 ด้านการเมือง มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 73 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งและการเผยแพร่และการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งแก่ภาคส่วนต่างๆ การประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่น และการถ่ายโอนภารกิจและอำนาจจากส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 729 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเพิ่มสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐในการตอบสนองต่อประชาชนในสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน โดยบูรณาการเลขหมายแจ้งเหตุฉุกเฉินให้เหลือเพียงหมายเลขเดียว การเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนกลางของกรมการปกครองสามารถให้บริการข้อมูลได้แล้ว 173 รายการจากประมาณ 60 หน่วยงาน และระบบการรับชำระเงินกลางของการบริการภาครัฐของกรมบัญชีกลาง
1.1.3 ด้านกฎหมาย มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 266 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมาย กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และการปรับปรุงคู่มือแบบการร่างกฎหมาย
1.1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 604 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การดำเนินโครงการนำร่องจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจภายในศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทำให้คดีพาณิชย์ได้รับการพิจารณาด้วยความรวดเร็ว และจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจและการแข่งขันในระดับสากล
1.1.5 ด้านเศรษฐกิจ มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 1,399 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การยกระดับระบบประกันสังคมโดยการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่สามารถจูงใจแรงงานและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีประกัน และการเพิ่มช่องทางในการจ่ายเงินสมทบกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระอายุไม่เกิน 65 ปี สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ ส่งผลให้ในเดือนธันวาคม 2563 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 มีจำนวน 1,799,786 คน และ 3,508,970 คน ตามลำดับ
1.1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 738 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การดำเนินการกำหนดประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) การกำหนดมาตรการในการทำประมงเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้าน โครงการ Clean Seas Campaign ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
1.1.7 ด้านสาธารณสุข มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 232 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ เช่น โควิด-19 (ศบค.) หรือไทยชนะ.com LINE @sabaideebot ของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อและ Application “หมอรู้จักคุณ” ของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเป็นฐานข้อมูลของหน่วยบริการทุกระดับรองรับการแพทย์และการสาธารณสุขวิถีใหม่ในการดูแลผู้ป่วย โรคติดต่อไม่เรื้อรัง การฝากครรภ์ การส่งเสริมการป้องกันโรค การให้คำปรึกษาและการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพตลอดช่วงชีวิต
1.1.8 ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 110 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการใช้คลื่นความถี่ร่วมกันบนโครงข่ายแห่งชาติ การยกร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... และโครงการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลระบบฐานข้อมูลข่าวกลาง
1.1.9 ด้านสังคม มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 648 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจัดทำแผนพัฒนาในพื้นที่ตามนโยบาย one plan one policy ของกระทรวงมหาดไทยและ สศช. ได้พัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติจัดทำระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ที่เป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายฐานข้อมูลผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในการแก้ปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัด ประเทศ
1.1.10 ด้านพลังงาน มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 110 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย และการประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563
1.1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 931 โครงการ/การดำเนินงานโดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเร่งดำเนินการกำหนดให้มีการแสดงฐานะทางการเงินของเจ้าพนักงานของรัฐเปิดเผย ตรวจสอบได้ โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และมีการขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้มีมาตรการและกลไกในฝ่ายบริหารเพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
1.1.12 ด้านการศึกษา มีโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องในระบบ eMENSCR จำนวน 5,755 โครงการ/การดำเนินงาน โดยมีโครงการ/การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัด และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนในหลากหลายช่องทาง เช่น ทีวีดิจิทัล จานดาวเทียม และช่องทางใน Youtube และได้จัดทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform) หรือ “DEEP” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ออนไลน์ที่รวบรวมหลายหลักสูตร
1.2 สถานะกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยจากกฎหมายภายใต้แผนฯ ที่มีข้อเสนอจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมาย จำนวน 214 ฉบับ มีกฎหมายแล้วเสร็จ จำนวน 53 ฉบับ ทั้งนี้ สศช. เห็นสมควรเร่งรัดหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดทำกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อจัดทำและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ด้าน |
ทั้งหมด |
แล้วเสร็จ |
อยู่ระหว่างดำเนินการ | |
1 |
การเมือง |
1 |
- |
1 |
2 |
บริหารราชการแผ่นดิน |
5 |
3 |
2 |
3 |
กฎหมาย |
14 |
6 |
8 |
4 |
กระบวนการยุติธรรม |
40 |
5 |
35 |
5 |
เศรษฐกิจ |
33 |
8 |
25 |
6 |
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
35 |
13 |
22 |
7 |
สาธารณสุข |
14 |
1 |
13 |
8 |
สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ |
7 |
2 |
5 |
9 |
สังคม |
19 |
5 |
14 |
10 |
พลังงาน |
16 |
3 |
13 |
11 |
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ |
21 |
3 |
18 |
12 |
การศึกษา |
7 |
4 |
3 |
13 |
กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) |
2 |
- |
2 |
รวม |
214 |
53 |
161 |
2. การรายงานประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของรัฐสภา รัฐสภาได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการรายงานความคืบหน้าฯ (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2563) โดยสามารถสรุปภาพรวมของประเด็นที่สำคัญ เช่น (1) การปรับปรุงรายงานความคืบหน้าฯ ให้สะท้อนความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม (2) การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปแต่ละด้านมีความล่าช้า ยังไม่เห็นผลของความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศและไม่มีการบูรณาการร่วมกัน (3) การรายงานในระยะต่อไป ควรรายงานในประเด็นที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญเป็นพิเศษร่วมด้วย และ (4) ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดย สศช. ได้รวบรวมข้อเสนอแนะและประมวลรายงานการดำเนินการประเด็นต่างๆ ในรายงานความคืบ หน้าฯ (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563) เรียบร้อยแล้ว เช่น ข้อเสนอแนะให้เร่งรัดส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และประเด็นธรรมาภิบาลด้านพลังงาน โดยแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานความโปร่งใส ลดการขัดแย้งในหน้าที่หรือผลประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจมีความเป็นธรรมและสร้างการยอมรับของภาคประชาชน ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบายในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
3. สาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน และการขับเคลื่อนสู่การบรรลุผลตามเป้าหมายอันพึงประสงค์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ประกอบด้วย กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวมทั้งสิ้น 62 กิจกรรม และข้อเสนอกฎหมายที่ควรปรับปรุงหรือจัดทำใหม่ จำนวน 45 ฉบับ และแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ตามที่ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 4 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 และวุฒิสภาได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาด้วยแล้วเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ สศช. ได้สรุปสาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงรายงานสถานการณ์ปัจจุบันของเป้าหมายที่กำหนดไว้ และนำเสนอเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้กำหนดให้แผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock เป็นเครื่องมือในการถ่ายระดับการดำเนินงานตามขั้นตอนและวิธีการของกิจกรรม Big Rock สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีหลักการสำคัญคือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจ เป้าหมาย ผลลัพธ์ และการดำเนินการ โดยแผนขับเคลื่อนฯ ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของแต่ละช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ หน่วยงานร่วมดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock รวมถึงโครงการ/การดำเนินงานที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมาย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ในเบื้องต้น สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต่อไป
4. การดำเนินการในระยะต่อไป
4.1 สศช. จะรายงานรายละเอียดของแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และในระยะต่อไป สศช. จะมุ่งเน้นติดตามและรายงานเฉพาะกิจกรรม Big Rock ตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยแสดงผลการดำเนินการเปรียบเทียบกับเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละช่วงเวลาตามเป้าหมายย่อยของแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ จะได้มีการสรุปประมวลผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามเรื่องและประเด็นปฏิรูปอื่นที่รัฐสภาให้ความสำคัญและจำเป็นต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะได้นำเสนอรายงานในลำดับต่อไป
4.2 สศช. จะพัฒนาระบบ eMENSCR โดยเพิ่มเติมในส่วนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามกิจกรรม Big Rock สำหรับการกำกับ ติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของกิจกรรม Big Rock ตามเป้าหมายย่อยของแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ซึ่งจะได้นำข้อมูลรายละเอียดของแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock เข้าสู่ระบบ eMENSCR เพื่อใช้ในการติดตามการดำเนินการและใช้สำหรับการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้วย ทั้งนี้ การรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานยังคงเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 เมษายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4233
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ