ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 April 2021 20:56
- Hits: 9911
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศมาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ดังนี้ 1) รัฐบาลควรมีการเร่งรัดให้มีการตรา “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….” โดยเร็ว 2) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ควรมีการพิจารณาบูรณาการร่างพระราชบัญญัติที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ควรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยง และชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน 4) กองทัพบกควรติดตามช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) และกลุ่มกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร และ 5) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ต้องเร่งรัดกระบวนการทางสัญชาติไทยให้รวดเร็วและทั่วถึง ในกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิผู้พิการ ตลอดจนการออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้กับกลุ่มชาติพันธุ์
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ วธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทส. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
วธ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกต |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1. รัฐบาลควรมีการเร่งรัดให้มีการตรา “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....” โดยเร็ว |
วธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….” เสร็จแล้วและจะมีการจัดประชุมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการพิจารณาเนื้อความในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จากนั้นจะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤษภาคม 2564 |
|
2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ควรมีการพิจารณาบูรณาการร่างพระราชบัญญัติที่จะเกิดขึ้นใหม่ |
คณะทำงานจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติโดยบูรณาการเข้ากับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที่ หาคม 2553 และร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเสร็จแล้ว และปรับชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น ญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….” |
|
3. ทส. โดย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ควรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง และชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน |
- ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และการชะลอการดำเนินคดีกับประชาชนอันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ. 2562 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ (2) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เรื่องคดีความที่มีผลสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อาจเป็นคดีความที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ - ความหลากหลายทางชีวภาพในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ว่าด้วยเรื่องหมวดความหลากหลายทางชีวภาพได้มีการระบุว่าให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งนี้ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพได้อยู่ในกระบวนการดำเนินงานจัดทำ “ยกร่างกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง - การสำรวจพื้นที่รัฐบาลได้มีกลไกให้ ทส. ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นมติที่เห็นชอบตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาที่ดินของประชาชนไทยในพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน |
|
4. กองทัพบกควรติดตามช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและกลุ่มกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร |
คำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นภารกิจของกองทัพบก โดยได้มีการช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในเรื่องของการพิจารณาการจัดสรรที่ดินทำกิน และการมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว |
|
5. มท. ต้องเร่งรัดกระบวนการทางสัญชาติไทยให้รวดเร็วและทั่วถึงในกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิผู้พิการ ตลอดจนการออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ |
- มท. ได้มีแนวทางแก้ไขโดยให้มีการยื่นขอเรื่องสัญชาติผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และได้มีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนต่างๆ และองค์กรทางการศึกษาเพื่อผลักดันเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของการดำเนินการเรื่องกฎหมาย และได้เปิดกว้างมาโดยตลอด โดยให้ความเห็นว่ากระบวนการให้สัญชาติของประเทศไทยถือว่ารวดเร็วกว่าประเทศอื่นมาก - พม. มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จำนวน 10 เผ่า โดยได้มีการจัดทำเป็นทำเนียบชุมชนไว้แล้ว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง (ศรส.) ในการสนับสนุนให้เกิดแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิตชนเผ่า ประเพณี วัฒนธรรม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพโดยศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมชุมชนบนพื้นที่สูง (สสส.) ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะองค์กรชุมชนบนพื้นที่สูง บริหารจัดการโดยคณะกรรมการทำหน้าที่สำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมและจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง รวมถึงการส่งเสริมรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน และมีการจัดทำแผนพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 เมษายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4229
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ