ผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 April 2021 20:14
- Hits: 9556
ผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อสังเกตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องควรเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา คณะรัฐมนตรีควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระสร้างสรรค์และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ อว. ควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หน้าที่ความเป็นพลเมือง ตลอดทั้งคุณธรรมและจริยธรรม กำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า – ออก โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการชุมนุมที่กฎหมายกำหนดและการบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณากับหลักนิติศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ ควรชี้แจงว่าปัจจุบันการชุมนุมในที่สาธารณะนั้นจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ อว. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อ 1. ไปพิจารณาร่วมกับ ศธ. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
อว. เสนอว่า ได้ร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2. แล้ว ซึ่งเห็นด้วยต่อรายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าว โดยเห็นว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ย่อมเป็นแนวทางหนึ่งในการรับทราบข้อมูลและความต้องการของประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐและสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ควรเป็นไปภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายร่วมกับหลักนิติรัฐเพื่อความเป็นธรรมโดยไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคม และได้เสนอข้อคิดเห็นในประเด็นตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. สผ. กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. 60 กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างคณะผู้แทนราษฎร และนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน และจัดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ หรือการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สถานศึกษา ที่สามารถตอบโต้แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ |
|
2. คณะรัฐมนตรีควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระสร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีควรเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนแสดงความคิดเห็นให้กว้างและมากขึ้นกว่านี้เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การใช้ความรุนแรงในการระงับเหตุการณ์ชุมนุม |
|
3. ศธ. และ อว. ควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า – ออกโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก |
- เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนักเรียนและนักศึกษา ให้ความสนใจในสังคมและรัฐบาล สถาบันการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่สามารถรับฟัง ให้ความรู้ และแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้อย่างชัดเจน ครูหรืออาจารย์ มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นต่างๆ แนะนำความถูกต้องและความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมชุมนุม และรับฟังการอภิปรายนักเรียน นิสิตและนักศึกษาให้อยู่ในขอบเขต รวมทั้งไม่ควรใช้กระบวนการทางวินัยมาดำเนินการแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และสถาบันการศึกษาไม่ควรปิดกั้นความคิดเห็น หากมีการจัดกิจกรรมชุมนุมภายในสถาบันการศึกษา - ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดรายวิชาเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง โดยจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชนในหลักสูตรทุกระดับชั้นตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาค่านิยม ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมไทย ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านโครงการ “ส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข” |
|
4. ตช. ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการชุมนุมที่กฎหมายกำหนดและการบังคับใช้กับผู้ชุมนุมต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุมหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุม ควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณากับหลักนิติศาสตร์ด้วย |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดย ตช. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาใช้โอกาสในการสร้างสถานการณ์ มีการบังคับใช้กฎหมายต่อแกนนำ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเป็นไปตามหลักการสากล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการอบรมการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเพื่อลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีการแจ้งเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว และเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 เมษายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4224
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ