โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 March 2021 00:03
- Hits: 9159
โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี (โครงการฯ ) ปีการผลิต 2564 ตามสาระสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวม ส่วนที่ 1 การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และส่วนที่ 2 การรับประกันภัยภาคสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 46 ล้านไร่ ภายใต้วงเงินงบประมาณ จำนวน 2,873.010 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุน ค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวก 1 (เท่ากับร้อยละ 2.2) ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 2,936.216 ล้านบาท
3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ ดังนี้
3.1 ขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี (กรมธรรม์ฯ) ปีการผลิต 2564 ให้ได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดเวลาการเอาประกันภัยของเกษตรกรทั้งใน Tier 1 และ Tier 2
3.2 บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัย
3.3 ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2564 รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของการประกันภัย
4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และสมาคมฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกรแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) แบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร (แบบ กษ 02 เพื่อการประกันภัย) และข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตลอดจนดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ปีการผลิต 2564 เพื่อรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และรายงานข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กค. เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
5. มอบหมายให้สมาคมฯ พิจารณากำหนดรูปแบบการประเมินความเสียหายแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ร่วมกับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณานำวิธีการประเมินความเสียหายในรูปแบบเชิงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีมาใช้ร่วมด้วย
6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ฯ ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2564 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์ฯ และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2564 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2564 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. กค. โดย สศค. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กษ. (กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) สำนักงาน คปภ. ธ.ก.ส. และ สมาคมฯ ตั้งแต่ปีการผลิต 2554 – 2563 ซึ่งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินงานปีการผลิต 2563 ที่ผ่านมา ณ วันสิ้นสุดการจำหน่าย กรมธรรม์ฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัยใน Tier 1 3.30 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 44.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99.24 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 44.70 ล้านไร่ นอกจากนี้มีเกษตรกรเอาประกันภัยเพิ่มเติมใน Tier 2 จำนวน 33,398 ราย พื้นที่ 479,152.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.92 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 1 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัยรับรวมทั้ง Tier 1 และ Tier 2 คิดเป็นจำนวน 4,041.60 ล้านบาท โดยมีคำขอรับค่าสินไหมทดแทนจากเกษตรกรแล้ว 36,754 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 516.66 ล้านบาท (การขอรับและจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนตุลาคม 2564) (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564)
2. กค. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ดังนี้
2.1 กค. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 22563 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลสถิติและความเสี่ยงภาคการเกษตรต่างๆ มาใช้ประกอบการเจรจาต่อรองค่าเบี้ยประกันภัยกับสมาคมฯ ซึ่งต่อมาสมาคมฯ ได้มีหนังสือแจ้ง กค. (สศค.) เพื่อเสนอเบี้ยประกันภัยและรายละเอียดโครงการฯ ปีการผลิต 2564
2.2 กค. ได้นำเสนอการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ให้ นบข. พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ตามที่ กค. เสนอและมอบหมายให้ กค. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งโครงการฯ ปีการผลิต 2564 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
โครงการฯ ปีการผลิต 2564 |
|
อัตราดเบี้ยประกันภัย Tier 1 (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย |
1) ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 96 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 28 ล้านไร่) |
|
2) ลูกค้าเกษตรกรทั่วไป/ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อเพิ่ม (พื้นที่เป้าหมาย 17 ล้านไร่) |
||
พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 55 บาท/ไร่ (16 ล้านไร่) |
||
พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 210 บาท/ไร่ (1 ล้านไร่) |
||
พื้นที่ความเสี่ยงสูง 230 บาท/ไร่ (1 ล้านไร่) |
||
อัตราเบี้ยประกันภัย Tier 2 (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย |
พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 24 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่) |
|
พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 48 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่) |
||
พื้นที่ความเสี่ยงสูง 101 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่) |
||
ความคุ้มครอง Tier 1 |
ภัยธรรมชาติ [(1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ (7) ช้างป่า] 1,260 บาท/ไร่ |
|
ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาท/ไร่ |
||
ความคุ้มครอง Tier 2 |
ภัยธรรมชาติ 240 บาท/ไร่ |
|
ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาท/ไร่ |
||
อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะ Tier 1 |
1) ธ.ก.ส. อุดหนุนเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 38 บาท/ไร่ (ไม่เกิน 28 ล้านไร่) 2) รัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันภัย ดังนี้ - สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 58 บาท/ไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือคิดเป็น 65.79 บาท/ไร่ - สำหรับเกษตรกรทั่วไป 55 บาท/ไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือคิดเป็น 59.92 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ) 70.77 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง) 72.17 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงสูง) |
|
ภาระงบประมาณ |
2,936.216 ล้านบาท [เงินต้น 2,873.010 ล้านบาท + ต้นทุนเงิน (ร้อยละ 2.2) 63.206 ล้านบาท] |
|
การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน |
การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 |
|
ระยะเวลาจำหน่าย |
เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภูมิภาค ดังนี้ 1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 1) จำนวน 42 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2564 2) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 2) จำนวน 16 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 3) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกิน วันที่ 30 มิถุนายน 2564 4) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา |
3. กค. แจ้งว่า ณ สิ้นวันที่ 5 มีนาคม 2564 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มียอดคงค้างจำนวน 946,503.735 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.80 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วงเงิน 3,285,962.480 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 จำนวน 2,936.216 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมกับยอดของโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 954,282.641 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.04 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้
4. ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการฯ ปีการผลิต 2564 เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าว ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ โดยได้มีคำสั่งนายทะเบียนเห็นชอบแบบ กรมธรรม์ฯ ปีการผลิต 2564 จำนวนทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ 1) กรมธรรม์ฯ เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของ ธ.ก.ส. 2) กรมธรรม์ฯ เพื่อกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เสี่ยงต่ำ 3) กรมธรรม์ฯ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และ 4) กรมธรรม์ฯ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยส่วนเพิ่ม ซึ่งสามารถเริ่มรับประกันภัยโครงการดังกล่าวได้ทันทีภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จะได้จัดทำโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และจะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการในภาพรวม ซึ่งรูปแบบการดำเนินการอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A31117
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ