การเลือกรับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ผู้รับสัมปทานจะส่งมอบให้รัฐบาลไทยเมื่อสิ้นอายุสัมปทาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 March 2021 22:43
- Hits: 8624
การเลือกรับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ผู้รับสัมปทานจะส่งมอบให้รัฐบาลไทยเมื่อสิ้นอายุสัมปทาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ รับทราบ และอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2526/23 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC ที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบให้แก่รัฐบาลไทยเมื่อสัมปทานสิ้นอายุ
2. รับทราบรายงานผลการทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติ
3. อนุมัติในหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะเป็นคู่สัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นผู้ให้ความเห็นชอบรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้ง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งแทนคณะรัฐมนตรีของสัมปทานปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดในอนาคตได้ตามที่เห็นสมควร และให้สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งแทนคณะรัฐมนตรีสำหรับการดำเนินการตามสัมปทานปิโตรเลียมนี้
เรื่องเดิม
1. กระทรวงอุตสาหกรรม (หน่วยงานที่ออกสัมปทานในขณะนั้น ปัจจุบันคือ กระทรวงพลังงาน) โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 ได้ออกสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2526/23 เพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC (บริเวณจังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัย) ให้แก่บริษัท MGF Oil Corporation เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526 และได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทาน และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นลำดับ ปัจจุบันมีผู้ถือสิทธิฯ ในสัมปทาน ดังนี้
ซิโน-ยู. เอส. ปิโตรเลียม อิงค์ ร้อยละ 33.33 (ผู้ดำเนินงาน)
บริษัท Central Place Company Ltd. ร้อยละ 33.33
บริษัท ไทย ออฟชอร์ ปิโตรเลียม จำกัด ร้อยละ 16.67
บริษัท Sino Thai Energy Ltd. ร้อยละ 16.67
ปัจจุบันสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวอยู่ในช่วงต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 10 ปี โดยมีระยะเวลาการผลิตที่ได้รับการต่อตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2554 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2564 (ซึ่งเป็นวันสิ้นอายุสัมปทาน)
2. ตามข้อกำหนดในสัมปทานข้อ 15 (4) ประกอบกับข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ซึ่งกรณีแปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 11 เมษายน 2564 และพื้นที่ตามสัมปทานดังกล่าวยังคงมีศักยภาพปิโตรเลียมอยู่ กระทรวงพลังงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกรับมอบทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่มีอยู่เดิมที่ยังใช้ประโยชน์ได้เพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวหลังสิ้นอายุสัมปทาน เพื่อให้มีการดำเนินการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. เนื่องจากแปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC มีประเด็นที่ต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อยู่ในข่ายต้องส่งมอบให้กับรัฐบาล ก่อนที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้แจ้งผู้รับสัมปทานทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสองปีก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อว่ามีสิ่งติดตั้งใดที่รัฐจะรับมอบและให้ผู้รับสัมปทานส่งมอบสิ่งติดตั้งดังกล่าวให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่าภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ดังนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เร่งดำเนินการแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับรายการที่ดินที่ผู้รับสัมปทานได้ใช้ประโยชน์เพื่อทำการผลิตปิโตรเลียม แต่ยังมิได้ดำเนินการขอถือครองกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาโดยตลอด โดยให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากเจ้าของที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้แล้ว เพื่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับสัมปทานอย่างสมบูรณ์ และให้สามารถดำเนินการส่งมอบที่ดินนั้นให้แก่รัฐได้เมื่อสิ้นอายุสัมปทาน และผู้รับสัมปทานได้ดำเนินการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2563
4. ตามข้อกำหนด ข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานส่งมอบสิ่งติดตั้งดังกล่าวให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่าภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้จัดทำร่างข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งโดยได้มีการหารือร่วมกับผู้รับสัมปทาน และจะได้นำร่างข้อตกลงที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการปิโตรเลียมนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามในข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งกับผู้รับสัมปทานต่อไป
5. กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสรรหาผู้ดำเนินการรายใหม่ โดยการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้พิจารณาการเลือกรับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ผู้รับสัมปทานจะต้องส่งมอบให้รัฐบาลไทยเมื่อสิ้นอายุสัมปทาน (สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณและกลุ่มบงกช) โดยมีมติให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติ โดยควรกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย
สาระสำคัญ
1. การดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน
1.1โดยที่กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะส่วนราชการในการกำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาเห็นว่า พื้นที่ตามสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวยังคงมีศักยภาพปิโตรเลียมอยู่ และเพื่อให้มีการดำเนินการที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ดำเนินการพิจารณาและศึกษาเพื่อเลือกรับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งในกรณีที่รัฐเห็นสมควรนำสิ่งติดตั้งทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปใช้ประโยชน์ต่อไปตามข้อกำหนดในสัมปทาน ข้อ 15 (4) และข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงฯ โดยได้วิเคราะห์ถึงความแข็งแรงปลอดภัยของสิ่งติดตั้ง และยังคงมีศักยภาพสำหรับการผลิตและสนับสนุนการผลิตปิโตรเลียม โดยได้นำเสนอรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้และจำเป็นต่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานจะต้องส่งมอบให้แก่รัฐดังกล่าวต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณากลั่นกรองและให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีประเด็นดังนี้
1) รายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2526/23 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC ที่ต้องส่งมอบให้แก่รัฐบาลไทยเมื่อสัมปทานสิ้นอายุตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ กลั่นกรองมา
2) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบตามข้อ 22
แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 และเป็นผู้ดูแลรักษาและบริหารทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์ ในกิจการปิโตรเลียมในอนาคตตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ได้อนุมัติกรอบแนวปฏิบัติ ในการรับมอบทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งสำหรับสัมปทานอื่นที่จะสิ้นอายุในอนาคต โดยให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบ ทั้งนี้ แนวทางการดูแลและบริหารทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่จะตกเป็นของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 176/2564 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564) ได้ตีความเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยสรุปได้ว่า ทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่ตกเป็นของรัฐไม่เป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 เนื่องจากทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนอกเหนือจากที่ดินไม่มีลักษณะเป็นการปลูกสร้างติดอยู่กับที่ดินอย่างถาวรจึงไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่ดินที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมให้กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมถือกรรมสิทธิ์ไว้เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินดังกล่าวนั้นในการประกอบกิจการปิโตรเลียมอีกต่อไปแล้ว กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินและส่วนควบของที่ดินให้กระทรวงการคลังเป็นที่ราชพัสดุต่อไป
3) สำหรับรายการทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่รัฐเลือกรับมอบมาข้างต้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องทำข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งกับผู้รับสัมปทานตามข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการหารือร่วมกันกับผู้รับสัมปทานในการจัดทำร่างข้อตกลงดังกล่าว และได้นำร่างข้อตกลงที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานผู้รับมอบจะได้ลงนามในข้อตกลงรับมอบสิ่งติดตั้งกับผู้รับสัมปทานต่อไป
1.2 สำหรับการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบเพื่อทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติ โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
1) ดำเนินการตามข้อสังเกตของกระทรวงการคลังโดยได้หารือกับกรมธนารักษ์และกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและการดำเนินงานสำหรับทรัพย์สินหรือสิ่งติดตั้งที่รัฐรับมอบมา
2) รับข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบในการดำเนินการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของทรัพย์สินและสิ่งติดตั้งที่จะนำไปใช้ในปี 2565 โดยจะคำนึงถึงความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ความแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม และการใช้ประโยชน์ในอนาคตประกอบด้วย
3) ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยมีการศึกษาข้อมูลของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบสัมปทาน เพื่อทำการเทียบเคียง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมและศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติและดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานอื่นที่จะสิ้นอายุ ซึ่งคือสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2526/23 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC ที่นำเสนอในครั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ทันการก่อนสัมปทานสิ้นอายุ จึงได้มีการหารือต่อคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียม และคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่อให้พิจารณากลั่นกรองและให้คำแนะนำแก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่จะนำไปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
3.1) ประเด็นแนวทางปฏิบัติในกระบวนการจัดทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทาน ซึ่งได้แก่ ขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขั้นตอนการลงนาม ในข้อตกลงการ ส่งมอบสิ่งติดตั้ง และการตรวจสภาพอุปกรณ์และสิ่งติดตั้ง
3.2) ประเด็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัมปทานข้อ 15 (4) และข้อกำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559
3.3) การใช้สิทธิตามมาตรา 69 และมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังสัมปทานสิ้นอายุ
3.4) ประเด็นอำนาจหน้าที่ผู้อนุมัติอนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินงาน ของสัมปทานที่จะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง
3.5) ประเด็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้นและประมาณการค่าใช้จ่ายของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณและกลุ่มบงกชจะมีผลกระทบต่อการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการระหว่างราชอาณาจักรไทยกับผู้รับสัมปทาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A31109
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ