ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 March 2021 22:27
- Hits: 8174
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ พิจารณาความเหมาะสมของการขอยกเลิกโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการโดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และพิจารณาจัดทำคู่มือการเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสำนักงาน ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามมาตรา 8 (1) ของพระราชกำหนดฯ ข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการ ตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) และมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินรวม 3,752.7050 ล้านบาท (ปรับลดจากข้อเสนอ จำนวน 90.5600 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด ฯ ประกอบด้วย ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 3,652.385 ล้านบาท (ปรับลด 80.0000 ล้านบาท) และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 100.3200 ล้านบาท (ปรับลด 10.5600 ล้านบาท) ทั้งนี้ สำหรับค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เบิกจ่ายได้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและไม่ให้ถัวจ่ายกับรายการอื่น
2. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาจัดหาแหล่งเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีนโควิด - 19 ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2564 ที่เหมาะสม โดยกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ที่มีข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอ เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับกรอบระยะเวลาการดำเนินการตามพระราชกำหนดฯ ซึ่งจะช่วยให้การจัดหาวัคซีนโควิด - 19 ของประเทศเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้
3. อนุมัติโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับ อสม. ในการสนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด - 19 ที่ยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน - มิถุนายน 2564) กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และมีระยะเวลาการเบิกจ่ายโครงการฯ 4 เดือน (เมษายน - กรกฎาคม 2564) พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้ สธ. เร่งพิจารณาฉีดวัคซีนโควิด - 19 ให้ครอบคลุม อสม. และ อสส. ทุกราย เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. และ อสส. ต่อไป
4. มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1 และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 3 และดำเนินการ ดังนี้
4.1 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
4.2 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค ในระบบ eMENSCR และจัดส่งให้ สบน. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนดภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
4.3 ประสานกับ กค. ในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
5. อนุมัติให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน (ระยะที่ 2) โดยขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของโครงการฯ จากเดือนมีนาคม 2564 เป็น เดือนเมษายน 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินการทำงานสำหรับการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัดต่อไป
6. อนุมัติให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด -19 โดยการปรับแผนการดำเนินโครงการจากเดิมกำหนดดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2564 (มกราคม - มีนาคม 2564) เป็นดำเนินการในไตรมาสที่ 2 – 3 ของปีงบประมาณ 2564 (มกราคม - มิถุนายน 2564) ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมการพัฒนาชุมชน เร่งดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัดต่อไป
7. อนุมัติให้จังหวัดอุดรธานี ยุติการดำเนินโครงการอบรมนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมงเพื่อฟื้นฟูภายหลังการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid - 19) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งเห็นควรให้จังหวัดอุดรธานีเร่งดำเนินการตามข้อ 19 และข้อ 20 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป
8. รับทราบคู่มือการเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น : ระดับพื้นที่ วงเงิน 45,000 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือการเสนอโครงการฯ รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการโดยเคร่งครัด
9. รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมการฯ
สาระสำคัญ
1. โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1) หน่วยรับผิดชอบ สปสช.
2) วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนไทยทุกสิทธิ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2564
3) กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนไทยประมาณ 67 ล้านคน หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
4) ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2564)
5) แผนการดำเนินงาน สปสช. จะจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถานพยาบาลอื่น ตามจำนวนผลงานบริการจริงที่เกิดขึ้น ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทางที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศกำหนด
6) ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ช่วยลดงบประมาณในภาพรวมด้านการรักษาพยาบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการบริการตรวจคัดกรอง รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคชีนโควิด – 19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต้นทุนบริการน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว ทั้งนี้ ยังสร้างความมั่นใจกับประชาชนที่จะได้รับวัคซีนโควิด – 19 หากภายหลังการรับวัคซีนโควิด - 19แล้วเกิดผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรง จะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ
2. โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฎิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน
วัตถุประสงค์
1) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของ อสม. ในการสื่อสารให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงสำรวจและติดตามอาการประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนในชุมชน
2) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการสนับสนุนบทบาท อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และช่วยเหลือ เยียวยา พื้นฟูทางด้านจิตใจแก่ประชาชนในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน
3) เพื่อสนับสนุนบทบาท อสม. ในการจัดกระบวนการ พัฒนาบทบาทของประชาชน/ชุมชนในการสร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่วมสร้างตำบลวิถีชีวิตใหม่ ปลอดภัยโควิด - 19
กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม อสม. 1,039,729 คน และ อสส. 10,577 คน รวมทั้งสิ้น 1,050,306 คน ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) หมู่บ้าน/ชุมชน มีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประชาชนในชุมชนได้รับการดูแลโดย อสม.
2) ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3) ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนในชุมชน ได้รับการติดตาม ดูแล และสังเกตอาการข้างเคียง
4) ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องในการป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่
5) ประชาชนได้รับการสำรวจ คัดกรองด้านสุขภาพจิต และได้รับการเยียวยาฟื้นฟูด้านสุขภาพใจอย่างเหมาะสม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A31106
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ