WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

GOV 6ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 .. .... และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

         คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

         1. เห็นชอบร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 .. .... และข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

         2. เห็นชอบมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องที่เสนอ

         3. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยจำนวน 4 ฉบับ

         4. มอบหมายให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการออกกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป

         สาระสำคัญ

         ร่างพระราชกำหนดฯ และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง มีรายละเอียด ดังนี้

         1. ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 .. .... 

         ร่างพระราชกำหนดฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) กำหนดมาตรการเสริมสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่เหมาะสม คุ้มค่า และสอดคล้องกับสภาวะและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนให้ทั่วถึงและเพียงพอยิ่งขึ้นและ (2) กำหนดมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่อาจยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง พร้อมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจผ่านสถาบันการเงินและ SFIs เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการช่วยเหลือของผู้ประกอบธุรกิจในสถานการณ์วิกฤติได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิผลและทันการณ์ในอนาคต โดยสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ การรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                  1.1 สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ

                           (1) ให้กระทรวงการคลัง ธปท. และ บสย. มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชกำหนดฯ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 หรือจากมาตรการที่ภาครัฐกำหนดเพื่อระงับ ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 (ร่างมาตรา 3 และ 4) 

                           (2) ธปท. สามารถให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์และ SFIs เป็นการชั่วคราวภายในวงเงินไม่เกิน 350,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดในร่างพระราชกำหนดฯ โดยมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 9 (4) แห่ง ... ธปท. มาบังคับใช้แก่การให้กู้ยืมเงินของ ธปท. ตามร่างพระราชกำหนดฯ ทั้งนี้ การให้กู้ยืมเงินอาจทำโดยวิธีการรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินที่สถาบันการเงินผู้กู้เป็นผู้ออกก็ได้ (ร่างมาตรา 5) 

                           (3) หมวด 1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ)

                                    มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ กำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลด Credit Risk ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วและไม่กระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ดังนี้

                                    (3.1) ให้ ธปท. สามารถให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อให้นำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ 1) มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินสินเชื่อดังกล่าวไม่รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ ธปท. ประกาศกำหนด และ 2) ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่ ธปท. กำหนด ทั้งนี้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเพิ่มเติมได้แต่เมื่อรวมกับวงเงินให้กู้ยืมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามร่างพระราชกำหนดฯ แล้วต้องไม่เกิน 350,000 ล้านบาท (ร่างมาตรา 7 8 และ 10)

                                    (3.2) ให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อ ธปท. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ภายใน 2 ปี นับแต่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีก 1 ปีก็ได้ในกรณีที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ และมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป หรือยุติมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้ โดยสถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับเงินกู้จาก ธปท. (ร่างมาตรา 9 และ 12) 

                                    (3.3) สถาบันการเงินต้องนำสินเชื่อที่ได้จากข้อ 1.1 (2) ไปปล่อยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1 (3) (3.1) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

                                             (3.3.1) สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินสินเชื่อตามร่างพระราชกำหนดฯ ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าแต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับตาม ... Soft Loan แต่ไม่รวมถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ ธปท. ประกาศกำหนด

                                             (3.3.2) สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินสินเชื่อตามร่างพระราชกำหนดฯ ต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะได้ คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ ธปท. สามารถขยายวงเงินสินเชื่อดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาในช่วงที่ได้รับสินเชื่อจาก ธปท. ตามข้อ 1.1 (2) ตามที่ ธปท. กำหนด แต่ต้องเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของสัญญาให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี (ร่างมาตรา 9 และ 11) 

                                    (3.4) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกอบธุรกิจให้สถาบันการเงินไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก นับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่อของการยื่นขอสินเชื่อแต่ละคราว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยในส่วนนี้แทนผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ เมื่อครบ 2 ปี 6 เดือนนับแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ ให้ ธปท. เริ่มทยอยดำเนินการคำนวณเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระดังกล่าว และเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่ ธปท. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (ร่างมาตรา 11) 

                                    (3.5) ให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จากการให้กู้ยืมเงินตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                                    (3.6) ให้มีกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 1.1 (3) (3.3) โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี และให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยได้ไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินสินเชื่อภายใต้กลไกการค้ำประกันนี้ โดยให้กระทรวงการคลังชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปีของวงเงินสินเชื่อภายใต้กลไกการค้ำประกันนี้

                                    ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของ ธปท. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกลไกการค้ำประกัน ซึ่งรวมถึงการกำหนดวงเงินวงเงินของกลไกการค้ำประกันย่อยภายใต้กลไกการค้ำประกันดังกล่าวรวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และวงเงินของกลไกการค้ำประกันย่อยดังกล่าว ทั้งนี้ การชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันข้างต้นให้แก่สถาบันการเงินแต่และแห่งต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ ตามข้อ 1.1 (3) (3.3) จากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และให้ บสย. มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกลไกการค้ำประกันนี้และให้มีการบันทึกบัญชีการดำเนินการดังกล่าวแยกจากบัญชีการดำเนินธุรกรรมตามปกติของ บสย. (ร่างมาตรา 13)

                                    (3.7) เมื่อชำระหนี้จากการค้ำประกันสินเชื่อตามข้อ 1.1 (3) (3.6) แล้ว ให้ บสย. เข้ารับช่วงสิทธิในสิทธิเรียกร้องที่สถาบันการเงินมีต่อผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงหลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้องนั้นและบริหารสินทรัพย์และบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ธปท. โดยรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ บสย. นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ให้ บสย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้กลไกการค้ำประกันตามข้อ 1.1 (3) (3.6) เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของ บสย. ในแต่ละปี (ร่างมาตรา 14 และ 15) 

                                    ทั้งนี้ เนื่องจากร่างพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจหน้าที่ บสย. ชั่วคราวในการดำเนินกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งบริหารสินทรัพย์และบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องที่ได้รับจากการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากภารกิจของ บสย. ตามกฎหมายจัดตั้ง บสย. ดังนั้น ขอให้ บสย. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามร่างพระราชกำหนดฯ บวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสของพนักงานได้และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจปรับปรุงบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของ บสย. ในปี 2564 และนำการดำเนินงานตามภารกิจของ บสย. ตามร่างพระราชกำหนดฯ ไปพิจารณากำหนดข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินการรัฐวิสาหกิจของ บสย. ในแต่ละปีเพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชกำหนดฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ

         2. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

                  2.1 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเพื่อสนับสนุนมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ

                           (1) วัตถุประสงค์ : ลดภาระค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 และส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอมากขึ้น

                           (2) กลุ่มเป้าหมาย :

                                    (2.1) สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่ปล่อยสินเชื่อภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

                                    (2.2) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามร่างพระราชกำหนดฯ ในส่วนมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ

                           (3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                           (4) วิธีดำเนินงาน : ตรา 1) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ และ 2) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือพื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ สำหรับการดำเนินการภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ โดยมีสาระสำคัญให้ลดค่าจดทะเบียนการจำนองเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                           อย่างไรก็ดี หากร่างพระราชกำหนดฯ ครบกำหนด 2 ปีแล้ว และคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ในกรณีที่มีวงเงินสินเชื่อภายใต้มาตรการเหลืออยู่และยังมีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจไปอีก 1 ปี จะต้องจัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวใหม่อีกจำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้มีผลใช้บังคับสอดคล้องกับระยะเวลามาตรการดังกล่าว

                           (5) สูญเสียรายได้ : 2,475 ล้านบาท

                           (6) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อและผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ในภาพรวมมีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวลดลง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ เพื่อดำเนินธุรกิจ และพื้นฟูกิจการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19

                  2.2 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ

                           (1) วัตถุประสงค์ : ลดภาระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 และใช้เวลานานในการฟื้นฟูธุรกิจสามารถตีโอนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และผู้ประกอบธุรกิจมีภาระลดลงในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะซื้อทรัพย์สินคืนจากสถาบันการเงิน

                           (2) กลุ่มเป้าหมาย :

                                    (2.1) สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                                    (2.2) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                           (3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                           (4) วิธีดำเนินงาน :

                                    (4.1) ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการ ดังนี้ (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ และ (2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                                    ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                    (4.2) ออกกฎกระทรวงผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

                                    (4.3) ออกคำสั่งกรมสรรพากรเพื่อกำหนดให้การโอนทรัพย์และการเช่าทรัพย์ระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ อาจมีมูลค่าต่ำกว่าอัตราตลาดให้ถือเป็นเหตุอันควร ดังนี้

                                             (4.3.1) การโอนทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจให้สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้

                                             (4.3.2) การเช่าทรัพย์ที่ตีโอนของผู้ประกอบธุรกิจ นับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2571

                                            (4.3.3) การโอนทรัพย์กลับให้ผู้ประกอบธุรกิจในกรณีที่มีการซื้อคืนนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2571

                                    (4.4) ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ โดยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดและห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ ในกรณีดังต่อไปนี้

                                             (4.4.1) กรณีผู้ประกอบธุรกิจโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดหลักประกันเพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้

                                             (4.4.2) กรณีสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ได้รับโอนมาตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) ภายใน 7 ปีนับตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้

                                             (4.4.3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) กับสถาบันการเงิน โดยจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักประกันในคราวเดียวกันกับการโอนตามข้อ 4.2.2 (4) (4.4) (4.2)

                           อย่างไรก็ดี หากร่างพระราชกำหนดฯ ครบกำหนด 2 ปีแล้ว และคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ในกรณีที่มีวงเงินสินเชื่อภายใต้มาตรการเหลืออยู่และยังมีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจไปอีก 1 ปี จะต้องจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองข้างต้นใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการดังกล่าว

                           (5) สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 12,000 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 3,727.50 ล้านบาท

                           (6) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวมีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อสินทรัพย์คืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริงเพื่อดำเนินธุรกิจต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด - 19 คลี่คลายลง อีกทั้งเป็นการลดโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวถูกกดราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีความต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 มีนาคม 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A3864

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!