ขออนุมัติดำเนินงานทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 – 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 March 2021 13:36
- Hits: 1376
ขออนุมัติดำเนินงานทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 – 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 – 2567 ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,654.98 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
2. ในการดำเนินทุนโครงการ สควค. ให้ ศธ. พิจารณาเกี่ยวกับการจัดสรรทุนให้สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคม แนวทางการปฏิรูประบบการศึกษา การพัฒนาประเทศ และแผนความต้องการบรรจุข้าราชการครูในแต่ละปีโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็น รวมทั้งให้มีการประเมินผลการดำเนินโครงการโดยเปรียบเทียบกับโครงการจัดสรรทุนที่มีเป้าหมายใกล้เคียงกันก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. โครงการ สควค. มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูงให้เป็นผู้นำทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาวิชาดังกล่าวทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ซึ่งจากการดำเนินโครงการ สควค. ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 ช่วงแรก สามารถผลิตบัณฑิตทุน สควค. ได้จำนวน 4,568 คน และผลิตบัณฑิตทางการศึกษาระดับปริญญาเอกได้จำนวน 95 คน ปัจจุบันปฏิบัติงานสอนอยู่ในคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และเป็นนักวิชาการในหน่วยงานทางการศึกษา และในระยะที่ 3 ช่วงที่สอง สามารถผลิตบัณฑิตโครงการ สควค. ระดับปริญญาโท ประเภท Premium ได้จำนวน 1,012 คน จากเป้าหมาย 3,480 คน และในจำนวนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกรับทุน Super Premium จำนวน 51 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับทุนอยู่ระหว่างขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัวและศึกษาต่างประเทศด้วยทุน Super Premium รวมจำนวน 143 คน สำเร็จการศึกษาแต่ไม่ผ่านเงื่อนไขทุน จำนวน 17 คน พ้นสภาพ ลาออกจากโครงการ จำนวน 23 คน และได้รับบรรจุเข้ารับข้าราชการครู จำนวน 829 คน ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมายของโครงการ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีผู้เรียนน้อย ผู้ที่สนใจประกอบอาชีพครูเพื่อสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีจำนวนน้อย ความไม่พร้อมด้านภาษาอังกฤษของบัณฑิตระดับอุดมศึกษา ผู้รับทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2 ปี เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลากว่า 24 ปีที่ผ่านมา สสวท. ได้ผลิตบัณฑิตโครงการ สควค. ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษารวมทั้งสิ้น จำนวน 5,397 คน
2. เพื่อให้การสร้างบุคลากรครูคุณภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่อง สสวท. จึงปรับการดำเนินงานทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2566) เป็นการดำเนินงานทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2567) เพื่อให้สอดรับกับปีที่ดำเนินการ รวมทั้งนำข้อคิดเห็นที่ได้จากการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ. สพฐ. เป็นต้น มาปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ด้วยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
ผลิตครูระดับปริญญาโทที่มีความสามารถพิเศษวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา |
รูปแบบ และการสรรหาผู้รับทุน |
(1) ประเภทที่ 1 ทุนระดับปริญญาตรี - โท หลักสูตรภาคปกติในประเทศ ศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (คณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ) ให้ความเห็นชอบ และศึกษาต่อระดับปริญญาโททางการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ หรือสถาบันผลิตครูที่มีหลักสูตรที่คุรุสภารับรองว่ามีสิทธิ์สอบขอใบประกอบวิชาชีพครูและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรองคุณวุฒิ เพื่อสร้างครูใหม่เข้าระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2570 – 2573 (2) ประเภทที่ 2 ทุนระดับปริญญาโท หลักสูตรภาคปกติในประเทศ ศึกษาระดับปริญญาโททางการศึกษา ในสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษา ในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ หรือสถาบันผลิตครูที่มีหลักสูตรที่คุรุสภารับรองว่ามีสิทธิ์สอบขอใบประกอบวิชาชีพครู และ ก.ค.ศ. รับรองคุณวุฒิ เพื่อสร้างครูใหม่เข้าระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2570 - 2573 |
จำนวนทุนการศึกษาต่อปี* |
(1) ทุนระดับปริญญาตรี - โท จำนวนไม่เกินปีละ 150 ทุน ระยะเวลารับทุน 6 ปีการศึกษา จำนวน 4 รุ่น (พ.ศ. 2564 - 2567) ศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 - 2573 (2) ทุนระดับปริญญาโท จำนวนไม่เกินปีละ 150 ทุน ระยะเวลารับทุน 2 ปีการศึกษา จำนวน 4 รุ่น (พ.ศ. 2564 - 2567) ศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 - 2569 |
ค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา (รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัว**) |
(1) ปริญญาตรี (4 ปี) 826,200 บาทต่อคน (รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัว 9,400 บาท/เดือน) (2) ปริญญาโท (2 ปี) 734,800 บาทต่อคน (รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัว 10,700 บาท/เดือน) |
เงื่อนไขการชดใช้ทุนเป็นเงิน และเวลาการปฏิบัติงาน ตอบแทนทุน*** |
(1) การชดใช้ทุนเป็นระยะเวลา นับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนในหน่วยงานที่กำหนดเป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาที่รับทุนการศึกษา (2) การชดใช้ทุนเป็นเงิน ผู้รับทุนกระทำผิดเงื่อนไขสัญญาการรับทุนการศึกษาหรือขอลาออกจากทุนจะต้องชดใช้ทุนเป็นจำนวนเงิน 2 เท่า ของจำนวนเงินทุนและหรือเงินอื่นใดที่ได้รับไปทั้งหมด |
รูปแบบและหน่วยปฏิบัติงาน ตอบแทนทุน |
บรรจุให้กับสถานศึกษาทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 - 2 อัตรา เพื่อกระจายครูเก่งให้กับสถานศึกษาทุกแห่งที่มีความขาดแคลนครูตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด หรือในสถานศึกษาที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ หรือคณะกรรมการอำนวยการบริหารงานโครงการ สควค. ให้ความเห็นชอบ |
*สอดคล้องกับบัญชีข้อมูลความต้องการบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี พ.ศ. 2566 - 2569 ของ ศธ. (สพฐ.)
**ค่าใช้จ่ายส่วนตัวผู้รับทุนโครงการ สควค. ใช้อัตราเดียวกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนักเรียนทุนรัฐบาลศึกษาในประเทศไทย (หลักสูตรภาษาไทย) ของสำนักงาน ก.พ. ที่มีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
***กรณีเทียบเคียงทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2564 (ทุนระดับมัยยมศึกษาตอนปลาย) ของสำนักงาน ก.พ. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อผูกพันในการรับทุน ดังนี้ 1) ผู้ได้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานของทางราชการในกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนด เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน 2) กรณีที่ผู้ได้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานของทางราชการชดใช้ทุนตามสัญญาที่ได้ทำไว้ นอกจากต้องชดใช้เงินทุนที่ได้รับไปแล้วทั้งสิ้นยังจะต้องชดใช้เงินอีก 2 เท่า ของจำนวนเงินทุนดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับด้วย
3. การดำเนินงานทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2567) มีแผนการดำเนินงาน 10 ปี ใช้กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 1,654.98 ล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้
ประเภทรายจ่าย |
ประมาณการค่าใช้จ่าย (ล้านบาท) |
|
1. ทุนการศึกษา (ค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายส่วนตัว) 1.1 ระดับปริญญาตรี – โท 1.2 ระดับปริญญาโท |
1,377.48 936.60 440.88 |
|
2. งบดำเนินการ เช่น งบบริหารงานของสถาบันร่วมผลิต และ สสวท. เป็นต้น |
277.50 |
|
รวมทั้งสิ้น |
1,644.98 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3863
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ