ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 17 March 2021 00:11
- Hits: 13114
ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยและเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 โดยกำหนดให้ “เครื่องพิมพ์อินทาลโย” หมายความว่าเครื่องพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์ที่มีลักษณะเป็นร่องลึกในส่วนที่เป็นภาพพิมพ์ ในการพิมพ์ต้องใช้แรงกดสูงมาก เพื่อให้กระดาษสามารถดึงหมึกพิมพ์ที่มีความหนืดสูงออกจากร่องหมึกขึ้นมากองเป็นเส้นนูนซึ่งรับความรู้สึกได้ตามพิกัดอัตราศุลกากร 8443.19.00 และ “เครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสี” หมายความว่า เครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถผลิตภาพจากต้นฉบับสี ตามพิกัดอัตราศุลกากร 8443.32.90 8443.39.11 8443.39.20 8443.39.30 และ 8443.39.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือเลียนแบบธนบัตร
2. ต่อมาได้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีผู้ประกอบการทำหนังสือขอหารือมายัง พณ. (กรมการค้าต่างประเทศ) ว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรอยู่ในข่ายควบคุมตามประกาศหรือไม่ เช่น เครื่องพิมพ์เขียวแบบแปลน เครื่องพิมพ์สติกเกอร์ เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด และเครื่องพิมพ์ยี่ห้อบนผ้า ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของประกาศฯ คือ ควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรของสินค้าประเภทที่สามารถปลอมแปลงหรือเลียนแบบธนบัตร แต่สินค้าที่ผู้ประกอบการหารือมานั้นไม่ได้อยู่ในข่ายควบคุมดังกล่าว แต่เนื่องจากประกาศฯ ไม่ได้มีการแยกพิกัดอัตราศุลกากรไว้โดยเฉพาะจึงทำให้เป็นปัญหาในการแยกประเภทการควบคุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำด่านศุลกากรจะไม่สามารถตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวได้จนกว่าผู้ประกอบการจะมีหนังสือแจ้งตอบกลับจาก พณ. (กรมการค้าต่างประเทศ)
3. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กรมศุลกากร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวม 4 ครั้ง เพื่อพิจารณาทบทวนขอบเขตของสินค้าควบคุมคือเครื่องพิมพ์อินทาลโยและเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสีตามประกาศฯ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของการควบคุมสินค้า สถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการด้วย โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
3.1 ให้ควบคุมการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเฉพาะเครื่องพิมพ์อินทาลโยรวมถึงชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ โดยให้แก้ไขบทนิยามตามประกาศ คำว่า “เครื่องพิมพ์อินทาลโย” หมายความว่า เครื่องพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์ที่มีลักษณะเป็นร่องลึกในส่วนที่เป็นภาพพิมพ์ ในการพิมพ์ต้องใช้แรงกดพิมพ์สูงมากเพื่อให้กระดาษสามารถดึงหมึกพิมพ์ที่มีความหนืดสูงออกจากร่างแม่พิมพ์ขึ้นมากองนูนบนกระดาษ สามารถรับความรู้สึกว่านูนได้โดยการสัมผัส เครื่องพิมพ์มีทั้งชนิดป้อนแผ่นและป้อนม้วน ส่วนประกอบหลักของเครื่องพิมพ์เส้นนูนที่ต้องมี เช่น หน่วยป้อนกระดาษ (Feeder Unit) หน่วยพิมพ์ (Printing Unit) หน่วยเช็ดหมึกพิมพ์ (Wiping Unit) หน่วยจ่ายหมึกพิมพ์ (Inking Unit) หน่วยรับกระดาษ (Delivery Unit) หน่วยควบคุม (Control Unit) และหน่วยสนับสนุนต่างๆ รวมถึงชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 8443.19.00 – 001/C62 และ 8443.19.00 – 999/KGM
3.2 ให้ยกเลิกการควบคุมการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรของเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสีทุกพิกัดอัตราศุลกากร เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร คือ ป้องกันการปลอมแปลงหรือเลียนแบบธนบัตร สำหรับเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือเดินทาง เช็ค และใบหุ้น มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษที่ ตช. สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารที่มีการปลอมแปลงหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสี
3.3 ให้ พณ. ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... โดยกำหนดบทนิยามคำว่า “เครื่องพิมพ์อินทาลโย” และยกเลิกการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรของเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสีทุกพิกัดอัตราศุลกากรตามประกาศดังกล่าว
3.4 ให้กรมศุลกากรออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติสินค้าเครื่องพิมพ์อินทาลโย รวมถึงชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ตามบทนิยามตามข้อ 3.1 ให้แล้วเสร็จก่อนเสนอร่างประกาศฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งต่อมากรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 180/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติสินค้าสำหรับเครื่องพิมพ์อินทาลโยเพื่อกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อยและรหัสสถิติสำหรับเครื่องพิมพ์อินทาลโยรวมถึงชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์แล้ว โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
4. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม โดยกำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยรวมถึงชิ้นส่วนครบสมบูรณ์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 8443.19.00 – 001/C62 และ 8443.19.00 – 999/KGM เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือเลียนแบบธนบัตร
5. พณ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศในเรื่องนี้ ดังนี้
5.1 วันที่ 4 – 26 สิงหาคม 2563 ประสานกับ ธปท. ตช. กรมศุลกากร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยทั้ง 5 หน่วยงานเห็นด้วยกับร่างประกาศฯ
5.2 วันที่ 4 สิงหาคม – 14 กันยายน 2563 จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีผู้ให้ความเห็น 2 ราย เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ
5.3 วันที่ 8 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2563 ประสานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสาร โดยมีผู้ให้ความเห็น 22 ราย เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ 21 ราย และไม่เห็นด้วย 1 ราย
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยและเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557
2. ให้เครื่องพิมพ์อินทาลโยรวมถึงชิ้นส่วนครบสมบูรณ์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 8443.19.00 – 001/C62 และ 8443.19.00 – 999/KGM เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
3. ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3570
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ