รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 March 2021 23:19
- Hits: 1325
รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้จัดทำขึ้น [คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 พฤษภาคม 2563) ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงในปี 2563 โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 ภายหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เนื่องจากเริ่มมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลและกระจายได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับนโยบายการคลังที่ออกมาอย่างต่อเนื่องและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะหดตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 และ 3.1 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยภาครัฐทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม
2. เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศไทย (ไทย)
2.1 ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 6.6 น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ (ผลการประเมินในเดือนกันยายน 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 7.8) เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ
2.2 ปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 และ 5.0 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8 ตามข้อสมมติฐานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวตามสัดส่วนการกระจายวัคซีนในไทยและต่างประเทศ และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2565
2.3 ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 เกินดุล 16.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามการเกินดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลลดลงอยู่ที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรายรับภาคท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนในปี 2565 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงขึ้นที่ 29.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น
2.4 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบที่ร้อยละ 0.9 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ส่วนในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงที่ประเมินไว้เดิมที่ร้อยละ 1.0 และประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ทั้งในปี 2563 และ 2564 โดยในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ
3. เศรษฐกิจไทยภายใต้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การระบาดในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้น ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 และ 2565 จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านการจัดซื้อวัคซีนของไทยมีความคืบหน้ามากกว่าที่ประเมินไว้ โดย กนง. จะติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
4. เสถียรภาพระบบการเงินไทย มีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น การสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพและการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจและรูปแบบธุรกิจจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้
5. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3562
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ