ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 March 2021 11:58
- Hits: 5229
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนัก ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 มาตรา 21 บัญญัติให้องค์การมหาชนทุกแห่งดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ไปยังคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการแทนและเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาองค์การมหาชนได้ดำเนินการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ แล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 33 แห่ง คงเหลือ จำนวน 1 แห่ง คือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (สธท.)
2. โดยที่ปัจจุบัน สธท. ได้มีภารกิจที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ชั้นสูงด้านหลักนิติธรรม การศึกษาวิจัยในประเด็นที่ซับซ้อนหรือสหวิทยาการ เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม การให้ความรู้ทางกฎหมายและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมด้านหลักนิติธรรม จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ สธท. ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
3. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้สามารถดำเนินงานรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 อันจะส่งผลให้การบริหารงานและการปฏิบัติภารกิจของ สธท. มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
4. ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 3. และมีมติให้ตัดร่างมาตรา 8 (10) ที่กำหนดให้ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมายออก เนื่องจากการดำเนินงานของ สธท. ต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์จัดตั้งเท่านั้น ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีหนังสือที่ นร 1208/453 ลงวันที่ 14 กันยายน 2563 แจ้งมติ กพม. ให้ สธท. ทราบแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เพื่อปรับปรุงวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ สธท. ให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 รายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดความหมายนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” และ “กรรมการ”
2. กำหนดให้ สธท. มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุวัติข้อกำหนดสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือ “Bangkok Rules” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.2 ศึกษา วิจัย และเผยแพร่มาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด และการช่วยเหลือผู้กระทำผิดหลังพ้นโทษให้กลับคืนสู่สังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยและต่างประเทศ
2.3 ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านหลักนิติธรรม เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้ความรู้ทางกฎหมายและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเคารพในหลักนิติธรรมและวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา
2.4 เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศระดับนานาชาติด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยจะเน้นความร่วมมือกับสหประชาชาติสถาบันสมทบ (Programme Network Institute) และความร่วมมือในกรอบอาเซียน
2.5 ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ
3. กำหนดให้ สธท. มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
3.1 ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และทรัพยสิทธิต่างๆ
3.2 ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภท เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
3.3 ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
3.4 จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบัน
3.5 เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน
3.6 กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
3.7 เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
3.8 เป็นตัวแทน หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ประกอบกิจการ ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
3.9 ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน
4. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย
4.1 ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงทางด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านบริหาร หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน
4.2 กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสี่คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด
4.3 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน
4.4 ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น
4.5 ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา
5. กำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่าสามแห่งไม่ได้ ทั้งนี้ ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วยการนับจำนวนการดำรงตำแหน่งกรรมการ ไม่รวมถึงการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่ได้มีการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทน
6. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของสถาบัน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และให้รวมถึง (1) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสถาบัน (2) อนุมัติงบประมาณประจำปี งบการเงิน และแผนการลงทุนของสถาบัน (3) ดูแลฐานะและความมั่นคงทางการเงิน ให้ความเห็นชอบรายงานทางการเงิน พิจารณารายงานของผู้ตรวจสอบการเงิน (4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบัน (5) ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากการบริหารจัดการ ตลอดจนเสนอคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีมีปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการประสานงานในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน (6) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสถาบันตาม (ก) – (ญ) สำหรับกรณีตาม (6) (ฉ) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสถาบัน รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
7. กำหนดให้สถาบันมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง เป็นผู้บริหารกิจการของสถาบันภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ การสรรหาผู้อำนวยการให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์กลางที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
8. กำหนดให้การแต่งตั้งผู้อำนวยการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุผลจำเป็นให้คณะกรรมการขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินหกสิบวัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการรายงานผลให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้อำนวยการที่มีอาวุโสตามลำดับรักษาการแทน ถ้าไม่มีรองผู้อำนวยการ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน ให้ผู้รักษาการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ ในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการ หรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาการแทนเป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการด้วย แล้วแต่กรณี
9. กำหนดให้การบัญชีของสถาบัน ให้จัดทำตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและการพัสดุของสถาบัน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง ในการตรวจสอบภายในให้มีผู้ปฏิบัติงานของสถาบันทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ในการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยของผู้ตรวจสอบภายในให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3330
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ