WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนมกราคม 2564

GOV 7สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนมกราคม 2564

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนมกราคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมกราคม 2564 ดังนี้

                 ภาพรวม 

                 ในเดือนมกราคม 2564 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้มีการปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งปกติแล้วจะมีการปรับทุก 4-5 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558 ตามตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output) ล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งนี้ การปรับปีฐานของดัชนีทั้ง 2 ชุด มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

                 อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.34 (YoY) เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 0.27 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน (ลดลงร้อยละ 4.82) การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน และราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่กลับเข้าสู่ปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.21 (YoY)

                 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออก อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกร ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐหลายหน่วย รวมทั้งแนวโน้มการรักษาด้วยวัคซีนเริ่มเห็นผลในหลายประเทศ ทำให้สถานการณ์ในช่วงต่อไปมีโอกาสปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและเงินเฟ้อให้กลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า

                 ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.34 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.83 จากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 1.86 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.40 (ค่าทัศนาจร เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.31 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.18 (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ) ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมสตรี) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (สุรา เบียร์) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.58 ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 1.34 (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม) ผักสด สูงขึ้นร้อยละ 11.19 (พริกสด หัวหอมแดง ผักบุ้ง) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.11 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม กะทิสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.37 และ 0.74 ตามลำดับ (อาหารเช้า ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง ไก่ทอด พิซซ่า) ขณะที่ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 5.02 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) ผลไม้สด ลดลงร้อยละ 1.46 (ส้มเขียวหวาน มะม่วง มะละกอสุก) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.07 (นมถั่วเหลือง นมสด นมผง)

                 ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (MoM)

                 ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.5 ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังคงหดตัว สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่ออุปสงค์และอุปทาน โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์) กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า (สายเคเบิล) กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.2 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่สินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงที่ยังขยายตัวได้ดี โดยสูงขึ้นร้อยละ 3.6 ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า พืชผัก (ต้นหอม ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง) ผลปาล์มสด ยางพารา กลุ่มสัตว์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง (ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน)

                 ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (MoM)

                 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY) และสูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน จากการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สูงขึ้นร้อยละ 19.1 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) ตามความต้องการและราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ ประกอบกับมีการปิดเตาถลุงเหล็กหลายแห่งทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นชั่วคราว สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็ก และดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (ทรายละเอียด ทรายหยาบ) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (บานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง) ขณะที่บางหมวดสินค้าราคาปรับลดลง ตามสภาพเศรษฐกิจ ภาคการก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังคงซบเซา ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.3 (ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 (กระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป) หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 (สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง ซิลิโคน)

                 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.3 (MoM)

                 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 จากระดับ 46.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 สาเหตุมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ารอบแรก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน อาจจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

           สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้ม

          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อน ที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีแนวโน้มหดตัว กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 มีนาคม 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A3320

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!