รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 March 2021 04:05
- Hits: 14330
รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
1. รับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ ทั้งนี้ ให้ส่งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาต่อไป
2. ให้หน่วยงานของรัฐรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประเมินและรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
ประเด็น |
หน่วยงาน |
|
1) เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 โดยกำหนดนโยบาย โครงการ กิจกรรม การกำกับควบคุม หรือการกำหนดตัวชี้วัดการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการผ่านระบบสารสนเทศ |
กระทรวงมหาดไทย (มท.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) |
|
2) กำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการประเมิน ITA |
หน่วยงานภาครัฐ |
|
3) สนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (User Interface) ที่เหมาะสมกับ อปท. แต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน |
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) |
|
4) กำหนดกิจกรรมเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ |
ดศ. และ สพร. |
|
5) สนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน |
องค์กรสื่อของรัฐ |
|
6) กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการให้บริการสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน |
มท. (ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ) |
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
1. การประเมิน ITA เป็นแนวนโยบายที่สำคัญในการป้องกันการทุจริตที่บังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และเป็นกลไกการป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้ถูกกำหนดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) ได้นำผลการประเมิน ITA ไปกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนแม่บทฯ โดยในระยะแรก (พ.ศ. 2561-2565) กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไว้ที่ร้อยละ 50)
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8,303 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการประเมิน ITA ผ่านระบบ ITAS ที่เว็บไซต์ https://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการประเมินด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 1,301,665 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาถึงร้อยละ 29.36 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การประเมิน ITA มีการเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ดังนี้
การเก็บข้อมูล |
ตัวชี้วัด |
คะแนน/ ระดับการประเมิน |
|||||||||||||||||
บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน) |
ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ ตัวชีวัดที่ 2 การใช้งบประมาณ ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต |
|
|||||||||||||||||
ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก) |
ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงการทำงาน |
||||||||||||||||||
เว็บไซต์ของหน่วยงาน (ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ) |
ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต |
3. ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศ 67.90 คะแนน อยู่ในระดับปานกลางที่ระดับผลการประเมิน ระดับ C สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน มีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยละ 13.19 หรือ 1,095 หน่วยงาน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ร้อยละ 50 (ประมาณ 4,152 หน่วยงาน)
4. ประเภทหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ซึ่งต้องมีระดับผลการประเมิน 85 คะแนนขึ้นไป หรือตั้งแต่ระดับ A-AA พบว่า หน่วยงานส่วนใหญ่ในกลุ่มที่ได้คะแนนระดับ A-AA คือ หน่วยงานประเภท อปท. รองลงมาคือ ประเภทหน่วยงานส่วนกลาง โดย อปท. เป็นหน่วยงานกลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนหรือจำนวนของหน่วยงานในการเข้าร่วมการประเมิน ITA มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 94.57 ของหน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมี อปท. จำนวนมากที่ยังไม่ผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทของหน่วยงานภาครัฐแล้วพบว่ามีหน่วยงานภาครัฐจำนวน 10 ประเภท ที่ผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา องค์กรศาล องค์กรอิสระ สถาบันอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ กรมหรือเทียบเท่า องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐอื่นๆ จังหวัด (ส่วนราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด) และ อปท. รูปแบบพิเศษ ส่วนอีก 7 ประเภท ได้แก่ กองทุนเทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรอัยการ เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบล ยังไม่ผ่านค่าเป้าหมายที่ร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยงานทั้งหมดในแต่ละประเภท
5. ผลการประเมิน ITA ในเชิงพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ส่วนราชการ ส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พบว่า จังหวัดนครสวรรค์ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด เท่ากับ 82.52 และเป็นจังหวัดเดียวที่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัดให้ความสำคัญในการกำกับติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ ขณะเดียวกันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินทั้งส่วนราชการ ส่วนภูมิภาคและ อปท. ภายในจังหวัดเป็นอย่างดี ส่งผลให้กระบวนการประเมินในภาพรวมของจังหวัดนครสวรรค์ดำเนินการได้อย่างครบถ้วนและมีคุณภาพ
6. ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในภาพรวมระดับประเทศจำแนกตามตัวชี้วัด พบว่า ตัวชี้วัดที่ฉุดรั้งให้ผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ เกิดจากหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้ครบถ้วนตามมาตรฐานเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐและหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
7. กลยุทธ์การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐเพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA ให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จึงต้องมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการดำเนินงานป้องกันการทุจริตตามตัวชี้วัดที่ 9 และ 10 โดยเน้นหนักหรือเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มหน่วยงานภาครัฐในเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัด (ส่วนราชการส่วนภูมิภาค) และ อปท. ซึ่งมีหน่วยงานที่มีผลการประเมินอยู่ในช่วงระดับ C-F คิดเป็นประมาณร้อยละ 72.43 หรือจำนวน 5,743 แห่ง จากส่วนราชการส่วนภูมิภาคและ อปท. ทั้งหมด 7,928 แห่ง
8. คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และคณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มีข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการป้องกันการทุจริตอย่างเร่งด่วน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรวม 6 ข้อ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3316
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ