รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2563 (สำนักงาน ป.ป.ท.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 March 2021 22:54
- Hits: 7189
รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2563 (สำนักงาน ป.ป.ท.)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Couption Perceptons Iindex : CPI) ประจำปี 2563 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศผลคะแนนดัชนี ชี้วัดการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยในครั้งนี้มีประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ ดำเนินการสำรวจโดยอาศัยการประเมินจาก 13 แหล่งดัชนี ปรากฏว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่เข้ารับการประเมินมีระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และโดยเฉลี่ยระดับคะแนนอยู่ที่ 43 คะแนน ประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด 88 คะแนน คือ นิวซีแลนด์และราชอาณาจักรเดนมาร์ก รองลงมามีคะแนน 85 คะแนน คือ สาธารณรัฐฟินแลนด์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐสิงคโปร์ และราชอาณาจักรสวีเดน ส่วนประเทศที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดานกับสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย ได้รับคะแนนเพียง 12 คะแนน เท่านั้น
2. ประเทศไทย (ไทย) ได้รับคะแนน 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 104 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด180 ประเทศ ได้รับคะแนนเท่ากับปี 2562 แต่ลำดับลดลง 3 อันดับ จากลำดับเดิม 101 ไปอยู่ในลำดับที่ 104 โดยในปี 2563 อยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศสมาชิกอาเซียนรองจาก (1) สาธารณรัฐสิงคโปร์ 85 คะแนน (2) เนการาบรูไนดารุสซาลาม 60 คะแนน (3) มาเลเซีย 51 คะแนน (4) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) 37 คะแนน และมีคะแนนเท่ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) 36 คะแนน
3. ภาพรวมคะแนนของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงและเมื่อเปรียบเทียบคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ในหลายประเทศมีผลคะแนนลดลง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ดังนั้น จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่า ไทยยังคงรักษาสถานะในการแข่งขันระดับนานาชาติไว้ได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)
4. การประเมินจากที่อื่นๆ 8 แห่งพบว่ามีคะแนนเท่าเดิม โดยมีคะแนนลดลงเพียง 1แห่ง คือ IMD World Competitiveness Center World Competitiveness Yearbook Executive Opinion Survey 2020 ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการประเมินคำถามเกี่ยวกับการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงมีอยู่หรือไม่ โดยสำรวจจาก นักธุรกิจ จำนวน 4,300 คนทั่วโลก ดังนั้น ไทยยังคงต้องมีการขับคลื่อนการดำเนินการเพื่อลดการให้สินบนและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น
5. องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้มีข้อเสนอแนะในสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้
5.1 สร้างความเข้มแข็งในการจัดการสถานการณ์ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการละเลยการป้องกันการทุจริตที่ดี ไม่มีการส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีเพียงพอ
5.2 เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากหลายประเทศมีการผ่อนคลายกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินการป้องกันและบริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาทุจริตในกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างได้
5.3 ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ โดยควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการกำหนดกลไกการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาสังคมและสื่อสารมวลชน
5.4 เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความรุนแรงของสถานการณ์และการรับมือของรัฐบาลให้ประชาชนรับรู้และสามารถเข้าถึงได้ง่าย
6. สำนักงาน ป.ป.ท. เห็นควรกำหนดมาตรการในการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต 5 มาตรการ ดังนี้
6.1 การจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะในระบบราชการ เช่น พัฒนาการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพ กำหนดให้มีการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายและพัฒนากรอบการแสดงบัญชีทรัพย์สิน สถานะทางการเงินและผลประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ
6.2 การกำกับการวิ่งเต้นเพื่อลดการชี้นำการตัดสินใจในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เช่น พัฒนาแนวทางการดำเนินการข้อตกลงสัญญาคุณธรรม และส่งเสริมและรณรงค์ไม่ให้ข้าราชการรับของขวัญ ของกำนัล จากการปฏิบัติหน้าที่
6.3 การจัดการกับระบบพวกพ้องเพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปด้วยความเสมอภาค เช่น จัดทำกลไกหรือระบบการประเมินผลการให้บริการสาธารณะและการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ โดยให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมและลดความเสี่ยงในการใช้อิทธิพลในกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ
6.4 การส่งเสริมสิทธิพลมืองเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น พัฒนาอาสาสมัครภาครัฐให้เป็นกลไกติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงการทุจริต สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมในการต่อต้านการทุจริต เปิดเผยข้อมูลและสร้างการรับรู้ทุกมิติ
6.5 การส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อบังคับใช้กฎหมายในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เช่น ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางการบริหาร (วินัย/ปกครอง/อาญา)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 มีนาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3106
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ