ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 15 February 2021 21:00
- Hits: 2422
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ได้พิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 6 วรรคสาม พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการ เพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) พิจารณาความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) ตามที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้นำกรอบวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) (ครั้งที่ 2) จำนวน 35,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. อนุมัติโครงการ ม 33 เรารักกัน ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงิน 37,100.0000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอน
3. มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ และดำเนินการ ดังนี้
3.1 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
3.2 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหา อุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3.3 ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
4. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงรายละเอียดโครงการ เราชนะ ในส่วนการเปิดรับลงทะเบียนให้แก่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ สำเร็จ แต่ไม่สามารถใช้วงเงินสนับสนุนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ รวมทั้งเห็นชอบแนวทางพิจารณาผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง โดยให้กลุ่มลูกจ้างตามสัญญาจ้างเหมาบริการของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (จ้างผ่านบริษัท) ลูกจ้างรายวันของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และอาสาสมัครต่างๆ หากผ่านเกณฑ์การคัดกรองคุณสมบัติของโครงการฯ ที่กำหนดไว้จะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอน และเร่งปรับปรุงสาระสำคัญของโครงการฯ ในระบบ eMENSCR ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
สาระสำคัญ
โครงการ ม 33 เรารักกัน ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1) หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานประกันสังคม
2) วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยจะสนับสนุนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยวิธีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ในเดือนมีนาคม - เมษายน 2564 จำนวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าเดียวกันกับโครงการเราชนะในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2564
3) ระยะเวลาดำเนินโครงการ ประมาณ 8 เดือน (กุมภาพันธ์ - กันยายน 2564)
4) กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
4.1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
4.2) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมโดยมีข้อมูลในระบบประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ หรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 (วันที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการ “เราชนะ”)
4.3) ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ
4.4) ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
5) วงเงิน 37,100 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ภายใต้แผนงานที่ 2.1
6) รูปแบบการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้
6.1) การจัดทำระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียน สปส. กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ระบบการลงทะเบียน และคัดกรองผู้ได้รับสิทธิจากฐานข้อมูลของภาครัฐต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฐานข้อมูลโครงการเราชนะ ฐานข้อมูลเงินฝากจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น เพื่อประกอบการดำเนินการตามโครงการฯ
6.2) การตรวจสอบข้อมูลและคัดกรอง ธนาคารฯ เป็นผู้ส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล และประมวลผลและคัดกรองข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
6.3) การจ่ายเงินสนับสนุน กค. อนุมัติเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพ จำนวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์
6.4) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วงเงินที่ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิตามโครงการ ม 33 เรารักกัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพตามโครงการฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
6.5) การรับเรื่องร้องเรียน การขอทบทวนสิทธิ ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติไม่ผ่าน ตามเกณฑ์การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการยื่นขอทบทวนสิทธิ์ตามแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงาน (รง.) กำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
6.6) การเบิกจ่ายเงิน สปส. ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนดฯ ทั้งนี้ กรณีที่ สปส. โอนเงินให้ร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่สำเร็จจะดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินให้แก่ร้านค้าและผู้ประกอบการภายในกันยายน 2564
7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ กลุ่มเป้าหมายได้รับการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพ โดยการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งก่อให้เกิดการจ่ายเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 กุมภาพันธ์ 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2506
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ