รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 11 February 2021 02:51
- Hits: 10763
รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ ในการประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ รายงานฯ ได้ใช้หลักการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงตามกรอบแนวคิด Driver-Pressure-State-Im pact-Response: DPSIR) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) ประกอบด้วย การขับเคลื่อนจากทิศทางการพัฒนานโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและต่างประเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเล ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 และนโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558 - 2564 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การดำเนินโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การนำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (BLUE Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง
2. ภาวะกดดัน (Pressure) ประกอบด้วย
2.1 สถานการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งและพาณิชย์นาวี และชุมชนชายฝั่ง แต่มีบางกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ นาเกลือ การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยรวมกิจกรรมการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีแนวโน้มของปริมาณการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากขึ้นจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้นด้วย
2.2 สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ส่งผลต่อสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้เข้าร่วมดำเนินงานตามเป้าหมายและวิธีการที่กำหนดเองเรียกว่า “แผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ”(Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) โดยแสดงเจตจำนงที่จะลดก๊าซเรือนกระจกเท่ากับร้อยละ 7 - 20 ภายในปี ค.ศ. 2020 และ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด”(Nationally Determined Contributions: NDCs) โดยระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25
3. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง (States)
3.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทรัพยากร | สถานภาพ | ||||||||||||
1) ปะการัง |
พื้นที่แนวปะการังใน 17 จังหวัด พบว่า แนวปะการังอยู่ในสภาพ สรุปได้ดังนี้ หน่วย : ร้อยละ
ทั้งนี้ แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชลบุรีและประจวบคีรีขันธ์มีสภาพเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดตราด และฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงามีแนวปะการังเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต และสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2562 ถือว่าไม่รุนแรง
|
||||||||||||
2) ปะการังเทียม |
ในช่วงปี 2521 - 2560 มีการวางปะการังเทียม 8,425 แห่ง และในปี 2560 มีการวางปะการังเทียมเพิ่มอีก 145 แห่ง โดยฝั่งอ่าวไทยมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1,122 แห่ง ส่วนฝั่งอันดามันมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา 542 แห่ง
|
||||||||||||
3) หญ้าทะเล |
ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย รวม 98,912 ไร่ โดยในปี 2561 สถานภาพส่วนใหญ่สมบูรณ์ปานกลาง เพิ่มจากร้อยละ 56.0 เป็นร้อยละ 65.6 เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต และพบว่า แหล่งหญ้าทะเลหลายพื้นที่มีความสมบูรณ์ลดลง
|
||||||||||||
4) ทะเลสาบ (สงขลา) |
มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสงขลาและพัทลุง รวม 651,250 ไร่ ในช่วงปี 2558 - 2559 สถานภาพทะเลสาบในจังหวัดสงขลาและพัทลุงมีความเสื่อมโทรมใกล้เคียงกัน และพบการวางเครื่องมือประมงขวางทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการปล่อยสารอาหารจากการปศุสัตว์บริเวณชายฝั่งลงสู่ทะเลสาบทำให้เกิดการทับถมและทะเลสาบตื้นเขินมากยิ่งขึ้น
|
||||||||||||
5) สัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ |
สัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย ได้แก่ - เต่าทะเล พบว่า ปี 2561 จำนวนครั้งของการวางไข่เฉลี่ยของเต่าตนุลดลง ส่วนเต่ากระเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง จำนวน 2 รัง หลังจากที่ไม่มีรายงานการพบเห็นมาหลายปี - พะยูน พบว่า ปี 2561 มีการพบเห็นพะยูนประมาณ 240 ตัว โดยจังหวัดตรังจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมากที่สุด และพบอัตราการเกยตื้นหรืออัตราการตายเพิ่มมากขึ้น - โลมาและวาฬ พบว่า ปี 2561 พบโลมา 2,283 ตัว โดยพบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามันประมาณ 2 เท่า และในปี 2559 พบวาฬบรูด้า 65 ตัว
|
||||||||||||
6) ป่าชายเลน |
ในช่วง 2504 - 2557 พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนได้ถูกบุกรุกทำลายไปมาก จากปี 2504 มีพื้นที่ป่าชายเลน 2,299,375 ไร่ ในปี 2557 พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือเพียง 1,534,584.74 ไร่ (ลดลง 764,790.26 ไร่) แต่จากการดำเนินนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้ป่าชายเลนเมื่อปี 2546 ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัวและมีสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น 17 จังหวัด โดยพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 467.94 ไร่ และฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น 33.68 ไร่
|
||||||||||||
7) ป่าชายหาด |
สภาพป่าชายหาดหลายพื้นที่ถูกทำลายและปรับเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจนไม่เหลือสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ทำให้ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายหาดในประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
|
||||||||||||
8) พื้นที่ชุ่มน้ำ |
ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วย ป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ และแม่น้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ประมาณ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 14 แห่ง
|
||||||||||||
9) พื้นที่ป่าพรุ ในประเทศไทย
|
มีพื้นที่ป่าพรุที่คงสภาพในประเทศไทยประมาณ 20,922.99 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 20,135.63 ไร่ และฝั่งอันดามัน 787.36 ไร่
|
||||||||||||
10) หาดทราย หาดโคลน และหาดหิน |
มีความยาว 1,630.75 กิโลเมตร จำนวน 357 แห่ง ความยาวฝั่งอ่าวไทย 1,163 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 468 กิโลเมตร |
3.2 สถานภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม สาเหตุของปัญหามลพิษทางน้ำเกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ ในส่วนสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลในรอบ 5 ปี (ปี 2557 - 2561) พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะดีและมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งให้คุณภาพน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น คือ การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการระบายน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษและการตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำมากขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ในช่วงปี 2557 - 2559 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอ่าวไทยตอนบน ปัญหาขยะทะเล ในปี 2561 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด จำนวน 11.47 ล้านตัน มีการกำจัดที่ถูกต้อง 6.73 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 59 ในปริมาณนี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ 2.93 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 25 และในช่วงปี 2558 - 2561 เกิดการรั่วไหลของน้ำมันทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ รวม 15 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณท่าเทียบเรือ
3.3 สถานภาพด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2561 จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง พบว่า ร้อยละ 87.71 ของพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และเขื่อนป้องกันริมตลิ่งทะเล ระยะทางประมาณ 239.87 กิโลเมตร และ 224.34 กิโลเมตร ส่วนในพื้นที่หาดโคลนเป็นการปักเสาดักตะกอน ระยะทาง 187.04 กิโลเมตร ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การทำลายแนวป้องกันการกัดเซาะตามธรรมชาติ การกัดเซาะจากการรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติและการกัดเซาะเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงบริเวณปากแม่น้ำ
4. สถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง 24 จังหวัด พบว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดมีความเสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นในบางทรัพยากร เช่น ป่าชายเลน คุณภาพน้ำทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โดยรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเสื่อมโทรมมากขึ้น หรือสถานภาพดีขึ้นของสถานการณ์ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ปรากฏในจังหวัดนั้นๆ สำหรับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5.1 การสร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำทิ้ง การจัดการขยะทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศ และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ
5.2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคธุรกิจ เช่น จัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน การสนับสนุนกิจกรรม CSR ที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การจัดกิจกรรมให้ความรู้/ความตระหนักที่ถูกต้องกับภาคประชาชน ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
5.3 การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น การตรวจตราเฝ้าระวัง การทำเครื่องหมายแนวเขต การกำหนดเส้นชายฝั่งเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและติดตามการดำเนินคดีต่างๆ
5.4 การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล ชายหาด และการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก
5.5 การป้องกัน เฝ้าระวัง และส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ โดยใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด การจัดทำรายงาน สถานการณ์ และจัดทำนโยบายและแผนระดับจังหวัด
5.6 การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง
5.7 การปรับปรุง/ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเหมาะสม
5.8 การเข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 กุมภาพันธ์ 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2322
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ