ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 03 February 2021 00:29
- Hits: 12785
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก)
2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ในการประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ แพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอว่า ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 20 มกราคม 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เห็นควรเสนอให้มีการปรับถ้อยคำเพื่อให้สอดรับกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับถ้อยคำในส่วนของเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติในตอนท้ายของเหตุผลบรรทัดที่ 2 จากล่าง ดังนี้
“รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับ คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
2. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถนำมาใช้บังคับได้บางส่วน จึงเห็นควรให้แพทยสภามีการปรับปรุงข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของมาตรา 301 และมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ แพทยสภาควรประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 305 (5)
3. หลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 (5) ที่ สธ. จะประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือกำหนดมาตรการการบริการและการสื่อสารที่ชัดเจน โดยให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่งจัดให้มีบริการปรึกษาทางเลือกและแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง การยุติหรือไม่ยุติการตั้งครรภ์ ระบบการส่งต่อ และการดูแล อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่มารับบริการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก
4. สธ. ควรกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอย่างปลอดภัย ให้มีความชัดเจนและรอบด้านตามมาตรา 301 และมาตรา 305 โดยจัดให้มีศูนย์บริการในโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการนี้อย่างกว้างขวาง และจัดให้มีสายด่วนให้บริการข้อมูลเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
5. ระบบการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะขอรับการปรึกษาทางเลือก และการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และการจัดสวัสดิการสังคมได้ด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่ให้การปรึกษาทางเลือก หมายรวมถึงองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ด้วย
6. รัฐบาลควรดำเนินการโดยองค์รวมซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอด การเลี้ยง ดูทารกให้เติบโตและได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
7. มาตรา 301 ไม่เอาผิดกับหญิงซึ่งทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หญิงจึงอาจทำให้ตนเองแท้งลูกด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ อันอาจเป็นช่องทางให้มีการซื้อยาที่ผิดกฎหมายมาใช้เองหรือทำแท้งเถื่อน ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงสมควรกำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาที่ผิดกฎหมายและดำเนินการกับหมอเถื่อนหรือคลินิกเถื่อนอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้หญิงเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพเพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย และควรมีการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย
8. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ไม่พร้อมด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันอย่างแข็งขันด้วยการดูแลเอาใจใส่บุคคลในครอบครัว และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้านในสถานศึกษา จัดให้มี การคุมกำเนิดอย่างจริงจังและทั่วถึง
9. รัฐบาลควรกำหนดให้มีการจัดทำรายงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทุกปี ตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอต่อคณะกรรมการที่ สธ. จะจัดตั้งขึ้น ตามคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
10. คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคณะ ควรมีการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 กุมภาพันธ์ 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2092
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ