รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 January 2021 23:34
- Hits: 1447
รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 และข้อเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 สรุปได้ ดังนี้
1.1 ปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม เช่น ข้าราชการบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจและมองข้ามความสำคัญของการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม การรณรงค์ส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องจริยธรรมขาดความต่อเนื่องและจริงจัง การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมจริยธรรม หัวหน้าส่วนราชการให้การสนับสนุนภารกิจด้านจริยธรรมน้อยหรือไม่เต็มที่ กลไกการขับเคลื่อนงานในระดับส่วนราชการยังมีปัญหา เนื่องจากไม่มีการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานด้านจริยธรรมที่ชัดเจนในส่วนราชการ
1.2 ปัจจุบันมีส่วนราชการตามประมวลจริยธรรม 218 ส่วนราชการ โดยส่วนราชการระดับกระทรวง/เทียบเท่าและมีการจัดตั้ง ศปท. ตามมติคณะรัฐมนตรีส่งรายงานฯ38 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 100 ส่วนราชการระดับกรมส่งรายงานฯ 103 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99.04 (ยังไม่ได้ส่งรายงานฯ 1 ส่วนราชการ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 0.96) และจังหวัดที่ส่งรายงานฯ 76 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 100
1.3 มีส่วนราชการที่มีการกำหนดผู้รับผิดชอบตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ 17 ที่กำหนดให้จัดตั้งกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมขึ้นในทุกส่วนราชการขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรม ซึ่งมีความเป็นอิสระรวม 203 ส่วนราชการ โดยมีส่วนราชการที่มอบหมายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไปเป็นหัวหน้ากลุ่ม 199 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 98.03 และมีส่วนราชการที่ไม่ได้มอบหมายข้าราชการฯ เป็นหัวหน้ากลุ่ม 4 ส่วนราชการ (3 กรม 1 จังหวัด) ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวงชนบท กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และจังหวัดบึงกาฬ
1.4 การดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการ และกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม ตามประมวลจริยธรรม ข้าราชการพลเรือนภาพรวม สรุปได้ ดังนี้
1) คณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ การควบคุม กำกับ ส่งเสริมและให้คำแนะนำในการใช้บังคับประมวลจริยธรรมในส่วนราชการ (เช่น การกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการ จัดเสวนา และอบรมให้ความรู้กับข้าราชการ) ร้อยละ 86.51 รองลงมาคือการสอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมในส่วนราชการ (เช่น การติดตามผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการ) ร้อยละ 85.11 และคุ้มครองข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ร้อยละ 79.07
2) หัวหน้าส่วนราชการ พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และควบคุมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การกำหนดนโยบายในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการประกาศเจตจำนงการบริหารงานด้วยความมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ โปร่งใส และต่อต้านการทุจริต) ร้อยละ 99.06 รองลงมาคือ สนับสนุนและส่งเสริมผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความซื่อสัตย์ มีผลงานและมีความรู้ความสามารถ และปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การประกาศยกย่องข้าราชการที่มีความประพฤติดีและปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม) ร้อยละ 98.60 และส่งเสริมและเผยแพร่การปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (เช่น การจัดโครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม) ร้อยละ 98.14
3) กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม พบว่า หน้าที่และอำนาจที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ เผยแพร่ ปลูกฝัง ส่งเสริม ยกย่องข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดี (เช่น การจัดฝึกอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม) คิดเป็นร้อยละ 97.67 รองลงมาคือ ติดตามสอดส่องการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการในสังกัด (เช่น การจัดให้มีช่องทางการร้องเรียน) คิดเป็นร้อยละ 92.56 และให้ความช่วยเหลือและดูแลข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม คิดเป็นร้อยละ 78.60
2. ข้อเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต สรุปได้ ดังนี้
2.1 ข้อเสนอการปรับบทบาท ภารกิจของ ศปท. ระดับกระทรวง
1) ปรับหน้าที่และอำนาจของ ศปท. ระดับกระทรวง โดยเพิ่มภารกิจด้านการส่งเสริมคุณธรรม ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ และภารกิจด้านการเสริมสร้างวินัยข้าราชการเพื่อบูรณาการงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการป้องกันทุจริตในภาพรวม ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานมีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน มีเอกภาพ ทั้งนี้ ศปท. ระดับกระทรวง จะต้องเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน การเสริมสร้างวินัยข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 ตลอดจนกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมการเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต รวมถึงทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดต่างๆ และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานความร่วมมือตลอดจนติดตามการขับเคลื่อนงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง
2) ปรับชื่อหน่วยงาน จาก “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ระดับกระทรวง” เป็น “ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริต (ศจท.) ระดับกระทรวง” เพื่อให้สะท้อนถึงภารกิจทั้งในด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต ซึ่งหมายความรวมถึงงานด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และป้องปรามและปราบปรามการทุจริต
2.2 ข้อเสนอการปรับบทบาท ภารกิจของกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม
1) เสนอให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริต (ศจท.)” ในระดับกรม โดยปรับบทบาท ภารกิจของ “กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม” ให้เป็นส่วนราชการในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 31 วรรคสอง และมีบทบาท ภารกิจในลักษณะเช่นเดียวกับ ศจท. ระดับกระทรวง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานในระดับกรม ทำหน้าที่ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต
2) เสนอให้ส่วนราชการกำหนดกรอบอัตรากำลังในเบื้องต้น 2 – 5 อัตรา และให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังเพื่อปฏิบัติงานในเบื้องต้น 2 - 5 อัตรา โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของภารกิจ (ให้เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับการจัดโครงสร้าง ศปท. ระดับกระทรวง ที่โดยปกติจะมีการมอบหมายผู้ปฏิบัติงานเฉลี่ย 2 - 5 อัตรา) เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบและประสานการดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต จึงเป็นการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในภาพรวม และหากมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้นำเสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณา
2.3 ให้มีผู้บริหารของส่วนราชการระดับกระทรวง กรม หรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็น Chief Ethics Officer โดยต้องรับผิดชอบการขับเคลื่อนภารกิจทั้งด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต
2.4 ให้มีการวางกลไกระบบการทำงาน การรายงาน และการรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
2.5 ให้มีการจัดทำแผนการสร้างทางก้าวหน้าของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม การป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบตามโครงสร้างภารกิจใหม่ รวมถึงแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการขับเคลื่อนงานตามภารกิจใหม่ เช่น การพัฒนาผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมจริยธรรมและการป้องกันทุจริต และการปรับบทบาทภารกิจของคณะกรรมการจริยธรรม
2.6 ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และสำนักงาน ก.พ. สนับสนุน ประสานช่วยเหลือ กำกับและติดตามการดำเนินงานของ ศจท. ระดับกระทรวง และในระดับกรม โดยให้ ศจท. ระดับกระทรวงและในระดับกรม ประสานงาน ร่วมมือ หรือดำเนินการอื่นใดตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการป้องกันและต่อต้านการทุจริตสั่งการหรือร้องขอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1724
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ