สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 January 2021 22:17
- Hits: 2348
สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม และปี 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง
1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนธันวาคม และปี 2563 ดังนี้
ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.27 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ จากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ นอกจากนี้ เครื่องประกอบอาหาร ปรับสูงขึ้นจากการส่งเสริมการตลาด สำหรับสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงแต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าผ่านทางพิเศษ ปรับลดลงตามมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิต ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY)
การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการได้ผลดีและได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ในรอบ 19 เดือน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ยังเป็นปัจจัยทอนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากสถานการณ์สามารถกลับเข้าสู่ปกติได้เร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลกำหนดได้ในปีหน้า
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.27 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.24 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.07 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.26 (ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.17 (เสื้อยืดบุรุษ เสื้อยืดสตรี) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.12 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาล้างจาน) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.06 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.11 สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.38 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 2.93 โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.43 โดยผัก สูงขึ้นร้อยละ 12.88 จากการสูงขึ้นของผักเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะพริกสด หัวหอมแดง และถั่วฝักยาว ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (กล้วยน้ำว้า ทุเรียน องุ่น) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.28 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (ไข่ไก่ นมผง) รวมทั้งอาหารบริโภค-ในบ้าน และอาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.38 และ 0.68 ตามลำดับ สำหรับสินค้าในกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับราคาลดลงร้อยละ 3.88 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลง ส่งผลให้สต็อกข้าวมีปริมาณมาก
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.15 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.40 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (QoQ) และเฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.85 (AoA))
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยราคาสินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังคงหดตัว จากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 19 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อปริมาณผลผลิต สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลังสด ยางพารา มะพร้าวผล อ้อย และพืชผัก) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาตะเพียน ปลาทูสด ปลาลัง) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์) และกลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 23.0 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (QoQ) และเฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.8 (AoA)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (YoY) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยปรับสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ตามราคายางมะตอยที่ได้ลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 0.1 (บานประตู วงกบหน้าต่าง) ขณะที่หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.2 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.8 (ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (QoQ) และเฉลี่ยทั้งปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.8 (AoA)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2563 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 46.3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 39.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 (สูงกว่าระดับ 50) จากระดับ 51.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 สาเหตุสำคัญที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับที่ทรงตัวคาดว่ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าว และการแพร่ระบาดโดยคนในประเทศ อาจจะส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในระยะต่อไป
2. สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2563
เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.85 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.29 ทั้งนี้ โดยมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง นอกจากนี้ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ โดยเฉพาะค่าทัศนาจรต่างประเทศและค่าห้องพักโรงแรมปรับลดลง จากการจำกัดการเดินทางและการท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดอาหารสด โดยเฉพาะผัก ซึ่งราคาสอดคล้องกับผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2563 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงยอดการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 3 ของปี
3. แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2564
สถานการณ์เงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านอุปสงค์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน อีกทั้งความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะส่งผลต่อราคาพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมาก สำหรับปัจจัยด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามสภาพอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึง อุปทานด้านน้ำมันดิบ ที่มีการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวด อื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1719
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ