มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 January 2021 21:42
- Hits: 2159
มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 และครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ที่ให้ถือว่า การประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 (เรื่อง มติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 ครั้งที่ 11/2548 และครั้งที่ 12/2548) รับทราบมติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญ และเรื่องที่ กก.วล. พิจารณา ได้ข้อยุติแล้ว เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. มติ กก.วล. ครั้งที่ 5/2563 (7 เรื่อง)
เรื่อง |
มติ กก. วล. |
|
เรื่องเพื่อทราบ (1 เรื่อง) |
||
1. รายงานประจำปี 2562 กองทุนสิ่งแวดล้อม |
รับทราบรายงานประจำปีฯ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ความเป็นมาของกองทุนฯ ผลการดำเนินงานในปี 2562 รายงานงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ทิศทางการขับเคลื่อนกองทุนฯ และภาพรวมกิจกรรม |
|
เรื่องเพื่อพิจารณา (5 เรื่อง) |
||
2. ร่างแนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นแนวทางปฏิบัติงานที่ดำเนินการได้ในระยะสั้น (1-5 ปี) ตัวชี้วัดและเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแนวทางการขับเคลื่อน เช่น ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกและหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวและตระหนักในภูมิปัญญาท้องถิ่น |
- เห็นชอบร่างแนวทางฯ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 พร้อมทั้งรับความเห็นของ กก.วล. ที่เห็นควรให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืนอย่างเคร่งครัดไปประกอบการพิจารณาด้วย - ให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อดำเนินการต่อไป |
|
3. การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบินจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ ภายใต้โครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway Partnership: EAAFP) เพื่อการอนุรักษ์นกอพยพและแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และให้มีการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนกอพยพ |
- เห็นชอบการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำฯ ภายใต้ชื่อ “พื้นที่เครือข่ายนกอพยพบุรีรัมย์” ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 - ให้ ทส. โดย สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางโครงการความร่วมมือพันธมิตรฯ ปรับแก้ไขแบบฟอร์มรายละเอียดข้อมูลพื้นที่ (Site Information Sheet) และนำเสนอสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พิจารณาตรวจทานเนื้อหาให้สมบูรณ์ก่อนประสานสำนักเลขาธิการ EAAFP เพื่อดำเนินการต่อไป |
|
4. กรอบและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2564-2568 เพื่อให้เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญให้กับชุมชนและภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน 3 เขต ได้แก่ พื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่พัฒนา และมีแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ |
- เห็นชอบกรอบและแนวทางการอนุรักษ์ฯ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 - ให้ ทส. โดย สผ. ประสานจังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบและแนวทางอนุรักษ์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ - ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กาฬประสาน ติดตามผลการดำเนินงาน และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดบึงกาฬ ต่อไป |
|
5. แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
- เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ดังนี้ (1) เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ รวม 37 จังหวัด ดังนี้ (1.1) จังหวัดตามมาตรา 37 วรรค 1 (จังหวัดในท้องที่เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 43 หรือเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา (1.2) จังหวัดตามมาตรา 37 วรรค 3 (จังหวัดที่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 43 หรือเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59) จำนวน 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิจิตร แพร่ สุโขทัย ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี หนองคาย ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ สกลนคร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ระนอง พังงา ปัตตานี และนราธิวาส (2) เห็นชอบโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ในระดับจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 457,952,532.83 บาท ประกอบด้วย งบประมาณแผ่นดิน 411,657,279.55 บาท กองทุนสิ่งแวดล้อม 500,000 บาท และท้องถิ่นสมทบ 45,795,253.28 บาท (3) เห็นชอบให้ สผ. ตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินการโครงการตามข้อ (2) และนำเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณสำหรับเงินสมทบจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 500,000 บาท (4) ให้คณะกรรมการจัดทำและติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตจังหวัดที่ได้รับการแก้ไขตามแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงประเมินประสิทธิผลการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในเขตจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ที่ผ่านมา เสนอ กก.วล. เพื่อพิจารณา - ให้ ทส. โดย สผ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่เป็นเกาะมีระบบการจัดการขยะมูลฝอยบนเกาะ โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านแผนปฏิบัติการฯ ในปีต่อไป |
|
6. โครงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาเพื่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี ของมูลนิธิข้าวขวัญ ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (1 พฤศจิกายน 2563-31 ตุลาคม 2566) โดยมีเกษตรกรระดับดี-ดีเยี่ยม 39 คน และมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ 1,000 ไร่ โดยไม่มีการเผาฟางข้าวและไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม |
- เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ในการอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม วงเงิน 8,998,000 บาท ให้แก่มูลนิธิข้าวขวัญเพื่อดำเนินโครงการฯ - ให้มูลนิธิข้าวขวัญจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินที่เสนอไว้ในโครงการฯ โดยแบ่งเป็นรายไตรมาสให้มีความเป็นไปได้และสามารถเบิกจ่ายได้ตามกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้ สผ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม พิจารณาก่อนที่จะเสนอกรมบัญชีกลาง (ผู้จัดการกองทุน) ต่อไป ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจาก ทส. แจ้งมติ กก.วล. ให้ทราบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และเพื่อการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของ สผ. ต่อไป |
|
เรื่องอื่นๆ (1 เรื่อง) |
||
7. รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (โครงการปรับปรุงกายภาพและก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่) ของกรมท่าอากาศยาน โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 23,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสาร 1,000 คน ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 3.4 ล้านคนต่อปี |
รับทราบมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศในการประชุมครั้งที่ 32/2563 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ในการให้ความเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงฯ โดยให้ กรมท่าอากาศยานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่เสนอในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด |
2. มติ กก.วล. ครั้งที่ 6/2563 (3 เรื่อง)
เรื่อง |
มติ กก. วล. |
|
เรื่องเพื่อพิจารณา (3 เรื่อง) |
||
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟรางเดี่ยว มีระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตร |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ต่อรายงาน EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ โดยให้ รฟม. ดำเนินการ ดังนี้ (1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ อย่างเคร่งครัด (2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ |
|
2. รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ในการประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ต่อรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ และให้ รฟท. รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างอุโมงค์ การจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ การกำหนดให้มีการซักซ้อมในกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินภายในอุโมงค์ และการจัดทำระเบียบหรือคู่มือการปฏิบัติงานของรถไฟความเร็วสูง โดยให้ คค. โดย รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการ ดังนี้ (1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ อย่างเคร่งครัด (2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ |
|
3. โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จังหวัดเพชรบุรี (โพไร่หวาน) ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งเป็นโครงการประเภทอาคารอยู่อาศัยรวมสำหรับเช่า มีห้องพัก 246 ห้อง รวม 6 อาคาร มีพื้นที่โครงการ 5-3-61 ไร่ (9,444 ตารางเมตร) โดยมีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการจัดการขยะมูลฝอย ระบบป้องกันอัคคีภัย |
เห็นชอบตามความเห็นของ คชก. พิจารณารายงาน EIA ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ต่อรายงาน EIA โครงการฯ โดยให้ กคช. ดำเนินการ ดังนี้ (1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด (2) ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1716
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ