ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 January 2021 04:02
- Hits: 11630
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้แจ้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรทราบด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง สคก. ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมที่มีรองนายกรัฐมนตรี(นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลไว้ในร่างมาตรา 166 วรรคท้าย เพื่อเร่งรัดให้ ก.ตร. กำหนดการประเมินความพึงพอใจในการบริการประชาชนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และตัดร่างมาตรา 152 วรรคสอง ออก ตามความเห็นของกะทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่15 กันยายน 2563 แล้ว รายละเอียดดังนี้
1. หน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ตช. ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ตช. ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นโดยตรงรับไปดำเนินการ และโอนอัตรากำลังนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักของ ตช. เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของตำรวจสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจอย่างแท้จริง และให้บริการ แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับโอนภารกิจไปดำเนินการ จึงมีการกำหนดระยะเวลาในการโอนภารกิจแต่ละภารกิจที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนหน้าที่และอำนาจของ ตช. หรือข้าราชการตำรวจในส่วนที่มีกฎหมายกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชตำรวจมีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตหรือการจดทะเบียน โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชการตำรวจมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไว้ ให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณา
2. การจัดระเบียบราชการใน ตช. กำหนดให้ในการแบ่งส่วนราชการของ ตช. อย่างน้อยต้องมีหน่วยงาน ดังนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรม แก่ประชาชนโดยตรง และกำหนดให้ ตช. ต้องจัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังก่อน รวมทั้งได้กำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สถานีตำรวจที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า โดยคำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ จำนวนอัตรากำลังและสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน
3. การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ กำหนดหลักการในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
3.1 แบ่งข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ
3.2 แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงานนั้นๆ
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี และในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผล ต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
3.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถได้
3.5 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
3.6 กำหนดห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ หรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแล ตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ และจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจของผู้บังคับบัญชาทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัด ตลอดจนดูแลการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการตำรวจไปให้สถานีตำรวจให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่และกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ ก.พ. อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย รวมทั้งกำหนด ห้ามผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใดๆ เพื่อให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่งกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ โดยปราศจากการครอบงำหรือการแทรกแซง
5. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม ซึ่ง ก.พ.ค.ตร. จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค.ตร. และเป็นผู้ซึ่งสามารถทำงานได้เต็มเวลา เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ก.ตร.
6. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ เพื่อเป็นกลไกในการปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ประชาชนอันเกิดจากข้าราชการตำรวจ โดย ก.ร.ตร. ประกอบด้วยประธานและกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่างๆ รวมจำนวน 9 คน และมีจเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
7. การให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานใน ตช. โดยกำหนดให้ ตช. จัดระบบบริหารงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน และกำหนดให้เงินอุดหนุนที่ อปท. จัดสรรให้แก่สถานีตำรวจให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและกิจการในสถานีตำรวจนั้น โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่นหรือชุมชน กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรจังหวัดจะจัดให้มีแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน โดยในการจัดทำแผนหรือมาตรการดังกล่าวให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ อปท. และชุมชน และเมื่อ ก.ตร. และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนหรือมาตรการดังกล่าวแล้ว ให้ สงป. และ ตช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนหรือมาตรการดังกล่าว
8. กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
9. บัญชีอัตราเงินเดือน ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ โดยตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่ได้มีการรับในอัตรานั้นออก แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1502
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ