ร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 15 January 2021 09:48
- Hits: 12477
ร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และเพื่อให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบงานให้สอดคล้องกับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้งานระบบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Withholding Tax) อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการลดต้นทุนและปริมาณเอกสาร อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนรูปแบบองค์กร (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ตลอดจนสร้างเสริมการปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ (New Normal) ในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019
2. กค. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และการใช้บริการระบบ e - Tax Invoice & e – Receipt ของผู้ให้บริการ แต่ไม่รวมถึงการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบดังกล่าว และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครอบคลุมถึงการใช้บริการระบบ e – Withholding Tax ของผู้ให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการภาษีตามมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ และเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวให้ครอบคลุมในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
3. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้
3.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้
3.1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 3,000 ล้านบาท
3.1.2 ร่างกฎกระทรวงฯ จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการประมาณ 24,840 ล้านบาท (รวมผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้แล้ว) ซึ่งกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
3.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.2.1 ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
3.2.2 ภาคเอกชนจะมีการใช้ระบบ e – Withholding Tax อย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมระหว่างกันและการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.2.3 ภาคเอกชนจะมีต้นทุนและภาระในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และการใช้บริการระบบ e - Tax Invoice & e – Receipt ของผู้ให้บริการ แต่ไม่รวมถึงการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครอบคลุมถึงการใช้บริการระบบ e – Withholding Tax ของผู้ให้บริการ ได้เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2. ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ โดยขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1240
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ