สถานการณ์การค้ามนุษย์และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 October 2014 20:56
- Hits: 2866
สถานการณ์การค้ามนุษย์และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย
เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์การค้ามนุษย์และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง พม. รายงานว่า
1. ด้วยสภาพภูมิประเทศของไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายพันกิโลเมตร และยังเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในภูมิภาค ทำให้สะดวกต่อการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานจำนวนมากทั้งที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านต้องการเคลื่อนย้ายเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก เพื่อหางานทำที่มีรายได้ดีกว่า อีกทั้งผู้ประกอบการของไทยก็มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาทำงานบางประเภทที่คนไทยไม่นิยมทำ จึงเกิดขบวนการนำพาหรือหลอกลวงทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง เช่นเดียวกับแรงงานไทยและคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งที่เดินทางโดยสมัครใจ และที่ถูกหลอกลวงว่าจะได้รายได้ที่มากขึ้น จึงทำให้คนไทยและคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศตนเองและประเทศอื่น สำหรับรูปแบบของการค้ามนุษย์ที่พบในไทย คือ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการนำคนมาขอทาน
2. ประเทศไทยได้พยายามดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักมาตรฐานสากล ได้แก่
2.1 ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัด การดำเนินคดีค้ามนุษย์ในกระบวนการยุติธรรม
2.2 ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ เน้นการทำงานรูปแบบทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้การคุ้มครองผู้เสียหายทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้จัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงที่เป็นคนไทย 6 คน จากเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้เร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และขบวนการนายหน้านำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ รวมทั้งประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ยังตกค้างอยู่
2.3 ด้านการป้องกัน ได้จัดระเบียบคนขอทานนำร่อง มีขอทานเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและบำบัดฟื้นฟู 240 คนเป็นคนไทย 96 คน และคนต่างด้าว 144 คน
2.4 ด้านนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดระบบติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับจังหวัด
2.5 ด้านความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยสนับสนุนและดำเนินงานร่วมกับองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง ทั้งในรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี
3. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบันทั้งในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และคมนาคม ทำให้การเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันก็เป็นช่องว่างทำให้เกิดภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ จึงเป็นที่จับตามองในเวทีระหว่างประเทศ ในปี 2557 สหรัฐอเมริกาได้ปรับลดระดับประเทศไทยลงไปอยู่ในระดับ 3 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการกีดกันทางการค้า ทำให้เกิดผลเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี
4. พม. ในฐานะหน่วยประสานงานหลัก จึงได้กำหนดแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ดังนี้
4.1 จัดประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
4.2 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ หรือ War Room โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ และมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อบูรณาการความร่วมมือ บัญชาการ สั่งการ และประสานการปฏิบัติ ด้วยความรวดเร็ว รอบด้าน และทันท่วงที
4.3 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการดำเนินคดี เรื่องแรงงานประมง และเรื่องการควบคุมตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์
4.4 จัดทำรายงานประจำปี เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานด้านการค้ามนุษย์ที่สำคัญของรัฐบาล ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2557