สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 January 2021 21:44
- Hits: 6561
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้
สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ
1. ข้อกำหนดและประกาศที่เกี่ยวข้อง
1.1 ที่ประชุมรับทราบคำสั่งและข้อกำหนด จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้
(1) คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 39/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)
(2) คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(3) ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15)
(4) ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16)
1.2 ที่ประชุมมีมติและข้อสังเกต ดังนี้
(1) ควรให้การพิจารณาประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามสถานการณ์และความรุนแรงของการแพร่ระบาด โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมพื้นที่ในรูปแบบเดียวกันทั่วทั้งจังหวัด
(2) ควรให้มีข้อกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข และเน้นย้ำมาตรการ D-M-H-T-T รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและทำลายเชื้อในอากาศ และให้กำหนดเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข อันเป็นเหตุให้ เกิดการแพร่ระบาด โดยอาจพิจารณาให้มีมาตรการลงโทษตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรค
(3) การกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและดำเนินมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายออก นอกเขตพื้นที่ยังคงมีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้อขัดข้องในการสอบสวนโรคและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด เป็นต้น และควรดำเนินมาตรการ ตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้า – ออก พื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่เดินทางเข้าออกติดตั้งระบบติดตามตัวเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว
(4) ควรรณรงค์ให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ซึ่งเหมาะกับสถานประกอบการ และแอปพลิเคชันหมอชนะ ซึ่งมีระบบติดตามตัวบุคคล (Tracking) เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรค ขณะนี้พร้อมใช้งานแล้วประมาณ 20 ล้านคน และสามารถขยายได้ถึง 40 ล้านคน
(5) ที่ประชุมมีมติให้กรณีการจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ในเขต กทม. ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคโดยคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะกำหนดให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น และให้กำหนดห้ามนั่งบริโภคในร้านภายหลังเวลา 21.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่กำหนด และพิจารณามาตรการในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการ ลูกจ้าง และประชาชน มากจนเกินไป
2. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ฯ ดังนี้
2.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสิ้น 85,502,232 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 134 จาก 216 ประเทศทั่วโลก
2.2 สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 745 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 152 ราย การคัดกรองเชิงรุกผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว 577 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด 16 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 8,439 ราย หายป่วยแล้ว 4,352 ราย และเสียชีวิต 65 ราย
2.3 ข้อเสนอยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 จากแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าระยะ 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ จะมีการแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเด็ดขาด จึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคม โดยที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ประกอบด้วย (1) การกำหนดให้พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (2) การควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด และ (3) การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในจังหวัดที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ
3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงานฯ ดังนี้
3.1 การสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง ดำเนินการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านในทุกพื้นที่ กวดขันและบูรณาการการปฏิบัติของกองกำลังป้องกันชายแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงเพิ่มความถี่การเฝ้าตรวจและการลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดน วางเครื่องกีดขวางตามช่องทาง/ท่าข้ามที่ล่อแหลมและสำคัญในภูมิประเทศ และเครื่องมือพิเศษทุกระบบในการเฝ้าตรวจพื้นที่ เช่น CCTV และการใช้โดรน นอกจากนี้ ได้บูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนทางบก ทั้ง 7 กองกำลังป้องกันชายแดน และเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่เพ่งเล็งด้านตะวันตก (เมียนมา) และด้านใต้ (มาเลเซีย) ด้านตะวันออก (สปป.ลาว และกัมพูชา) ดำรงความเข้มข้นในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและใช้กำลังที่จัดออกปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดนประจำปีเป็นผู้ปฏิบัติ รวมทั้งบูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา ด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด
3.2 การสนับสนุนของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สนับสนุนศูนย์ห่วงใยคนสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง เตียงนอน จำนวน 1,000 เตียง ที่นอน จำนวน 500 ชุด หมอน ผ้าห่ม มุ้ง จำนวน 1,000 ชุด และเตรียมโรงพยาบาลสนาม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ค่ายมหาเจษฎาราชเจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (รองรับได้ 174 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าพักแล้ว 41 คน) โรงพยาบาลสนามสโมสรเรือใบหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (รองรับได้ 320 คน) และสนามฝึกบ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี (รองรับได้ 232 คน)
3.3 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 16 ดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วมตามคมนาคมสำคัญเพื่อควบคุมและคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ภายในจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งจุดตรวจร่วม/ชุดสายตรวจร่วม เพื่อป้องกัน ป้องปราม กวดขัน และจับกุมบุคคลที่มั่วสุมกระทำผิดกฎหมายหรือกระทำอันก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
4. ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 เพิ่มเติม ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ ดังนี้
4.1 การจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ประกอบด้วย
(1) การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท AstraZeneca จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26,000,000 โดส) และคาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35,000,000 โดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหา จำนวน 61,000,000 โดส
(2) การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีนเพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2,000,000 โดส ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสถาบันอาหารและยา (อย.) ประเทศจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228,208,000 บาท
(3) การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง
4.2 เป้าหมายการฉีดวัคซีน 2,000,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564)
(1) วัคซีน 200,000 โดสแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี เป็นต้น จำนวน 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน
(2) วัคซีน 800,000 โดสแรก ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในกลุ่มข้อ (1) จำนวน 200,000 โดส และวัคซีน จำนวน 600,000 โดส ในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จำนวน 60,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 540,000 คน
(3) วัคซีน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564 โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ (2) จำนวน 600,000 คน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส
5. ความคืบหน้าการจัดการแข่งขันแบดมินตัน BWF World Tour ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ โดยกรมควบคุมโรคได้อนุญาตให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดตั้งสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine) ระหว่างวันที่ 4 - 31 มกราคม 2564 ทั้งนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการดังกล่าว จำนวน 21 ประเทศ มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ จำนวน 354 คน ซึ่งทั้งหมดต้องเข้ากระบวนการตามมาตรการดำเนินการระหว่างกักกัน และมาตรการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
6. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 9) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
7. ความคืบหน้าการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าว ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ โดยกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการประสานกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดสมุทรสาคร ในกรณีผู้ประกอบการโรงงานมีความประสงค์ดำเนินการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าว รวมทั้งจะจัดตั้งสถานที่กักกันรูปแบบ Factory Quarantine เอง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองดังกล่าวโดยใช้กองทุนประกันสังคมผ่านโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมและแผนการดำเนินงานทั้งในด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกินขีดความสามารถในการรองรับของกระทรวงสาธารณสุข (Worst Case)
2. ให้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่
3. ให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ตามระดับพื้นที่ สถานที่และกิจกรรม รวมถึงให้เพิ่มการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกและคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อในพื้นที่ และการสุ่มตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าว
4. ให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงการดำเนินการของจังหวัดในการควบคุมป้องกัน โรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สกัดกั้นป้องกันข่าวลวงต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทันการณ์
5. ให้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัคซีน รวมทั้งให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการรวบรวมจัดทำชุดข้อมูลสรุปประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนเพื่อประกอบการวางแผนบริหารจัดการ เช่น จำนวนชนิดของวัคซีนที่ฉีดในมนุษย์และในประเทศใดบ้าง จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน วัคซีนที่ได้รับการจดทะเบียนเพื่อใช้ในการรักษาแล้ว รายงานประสิทธิผลและความปลอดภัยของแต่ละชนิด รายงานอาการแพ้หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แนวทางการบริหารจัดการ (การจัดหา การนำเข้า ขั้นตอนการกระจายวัคซีน) ราคา และกำหนดเวลาที่จะได้รับวัคซีน การกระจายวัคซีนให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
6. ให้ กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้อง ได้แก่ ความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเพียงพอต่อการกระจายไปถึงโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลประวัติการเดินทางในการสอบสวนโรค (TimeLine) และแจ้งให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบว่าสามารถไปตรวจคัดกรองได้ ณ สถานที่ใดบ้าง รวมถึงให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ และจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายด้วย รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย
7. ให้ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ให้มีปริมาณที่เพียงพอไม่ขาดแคลนและมีราคาที่เหมาะสม โดยให้ กระทรวงพาณิชย์ กำชับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ให้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และ และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประชาสัมพันธ์รณรงค์การใช้หน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากาก N95 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
8. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาและประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสนามกีฬาและสนามมวย
9. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคง และหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการกวดขันและเฝ้าระวังตามพื้นที่ชายแดนทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมถึงดำเนินคดี ต่อผู้ลักลอบเล่นการพนันและการมั่วสุมอันก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดฯ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1062
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ