รายงานผลการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 December 2020 00:54
- Hits: 12417
รายงานผลการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ รายงานผลการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2563) และแนวทางการดำเนินการตามระเบียบฯ และกำชับให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญและถือปฏิบัติต่อไป สรุปได้ ดังนี้
1. รายงานผลการดำเนินการตามระเบียบฯ
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
1.1 ภารกิจด้านการตรวจสอบโครงการของรัฐที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน |
- การเผยแพร่ข้อมูลโครงการของหน่วยงานของรัฐ ผ่านเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นที่ www.publicconsultation.opm.go.th มี 21,976 โครงการแบ่งเป็นโครงการของรัฐตามระเบียบฯ 20,264 โครงการ (ร้อยละ 92.20) และไม่เป็นโครงการของรัฐตามระเบียบฯ 1,714 โครงการ (ร้อยละ 7.80) - โครงการของรัฐตามระเบียบฯ 20,264 โครงการ เป็นโครงการที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็น 14,641 โครงการ (ร้อยละ 72.25) และไม่มีการรับฟังความคิดเห็น 5,623 โครงการ (ร้อยละ 27.75) - การประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็น แบ่งเป็นโครการที่ประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ให้ประชาชนทราบก่อนรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามระเบียบฯ 8,472 โครงการ (ร้อยละ 87.87) และไม่มีการประกาศหรือประกาศน้อยกว่า 15 วัน 6,169 โครงการ (ร้อยละ 42.13) - การจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น แบ่งเป็นโครงการที่ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น 12,730 โครงการ (ร้อยละ 86.95) ไม่มีการสรุปผลฯ 1,589 โครงการ (ร้อยละ 10.85) และอยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็น 322 โครงการ (ร้อยละ 2.20) |
|
1.2 ภารกิจด้านการจัดอบรมสัมมนาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการ ตามระเบียบฯ |
จัดอบรมสัมมนาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามระเบียบฯรวม 19 ครั้ง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สรุปได้ ดังนี้ - การฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ที่ สปน. ได้พัฒนาขึ้นใหม่ 6 รุ่น ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง 2 รุ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 รุ่น ภาคเหนือ 1 รุ่น และภาคใต้ 1 รุ่น รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 263 คน - จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน 2 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามระเบียบฯ มีผู้เข้าร่วมการประชุม รวม 206 คน |
|
1.3 ภารกิจด้านจัดทำและเผยแพร่แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน |
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้มีการดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้ - จัดทำและเผยแพร่แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย บทความ รายงานการศึกษาที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างการรับรู้ให้กับหน่วยงานของรัฐในการสร้างความตระหนักรู้ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม 12 เรื่อง - จัดทำและเผยแพร่องค์ความรู้ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบฯ เช่น กฎหมายที่บัญญัติวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้เป็นการเฉพาะ แนวทางในการใช้งานเว็บไชต์ สรุปคำพิพากษาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในการดำเนินโครงการของรัฐ - ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของโครงการของรัฐ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย |
|
1.4 ภารกิจด้านการกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ และแนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามระเบียบฯ |
ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์รวม 683 ครั้ง และตอบข้อหารือหน่วยงานของรัฐทางหนังสือรวม 19 เรื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 89 ครั้ง (เกี่ยวกับข้อระเบียบฯ 57 ครั้งและเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ 32 ครั้ง) และได้มีการตอบข้อหารือหน่วยงานของรัฐทางหนังสือเกี่ยวกับแนวทางในการจัดรับฟังความคิดเห็นในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1 เรื่อง |
|
1.5 บทวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามระเบียบฯ |
- หน่วยงานของรัฐมิได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่หรือให้ข้อมูลโครงการของรัฐกับประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพียงพอ เช่น รายละเอียดการดำเนินโครงการ ข้อมูลผลกระทบหรือมาตรการการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น - คำนิยามของผลกระทบในวงกว้างหรือผลกระทบอย่างรุนแรงไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติงานของหน่วยงาน และเป็นการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในการพิจารณา จึงส่งผลต่อการพิจารณาว่าโครงการใดจะมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ก็ได้ - ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนการหรือขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยโครงการของหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมากได้กำหนดขั้นตอนในการรับฟังความต้องการของประชาชนประกอบการจัดทำโครงการของรัฐเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณซึ่งความเห็นของประชาชนในขั้นตอนของการขอรับการจัดสรรงบประมาณนั้นอาจไม่สนองต่อวัตถุประสงค์ของระเบียบฯ เนื่องจากในหลายกรณี โครงการของรัฐได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ล่าช้าหลายปี ดังนั้น การจะใช้ข้อมูลความคิดเห็นเดิมอาจไม่สะท้อนความต้องการและความคิดเห็นที่เป็นปัจจุบันของประชาชน |
|
1.6 ข้อเสนอแนะการ ขับเคลื่อนการดำเนินการ ตามระเบียบฯ |
- หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบก่อนเริ่มดำเนินโครงการของรัฐ ทางระบบเครือข่ายสารสนเทศที่ สปน. จัดทำขึ้น และหากมีผลกระทบอย่างรุนแรง ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย - ควรมีการกำกับภายในหน่วยงาน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการของรัฐให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับด้วย - แต่งตั้งคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาระดับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานของรัฐและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นมาตรฐาน - บูรณาการข้อมูลร่วมกับสำนักงบประมาณในการกลั่นกรองข้อมูลโครงการของรัฐให้มีการเผยแพร่ข้อมูลและหรือมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกำกับดูแลการดำเนินโครงการของรัฐตั้งแต่ต้นทาง - จัดทำแนวทางการดำเนินการตามระเบียบฯ และกำชับหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญและถือปฏิบัติ |
2. แนวทางการดำเนินการตามระเบียบฯ เพื่อกำชับหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญและถือปฏิบัติต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 พิจารณาลักษณะโครงการของรัฐ ว่าเป็นโครงการของรัฐตามระเบียบฯ ข้อ 4 (โดยมีประเด็น ได้แก่ เป็นการดำเนินโครงการโดยหน่วยงานของรัฐ เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม หน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการเอง/ให้สัมปทาน/อนุญาตให้บุคคลอื่นทำ และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยหรือส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น) หากพิจารณาแล้วเข้าในทุกประเด็น ให้พิจารณาต่อว่ามีกฎหมายที่กำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นไว้เฉพาะแล้วหรือไม่
2.2 เผยแพร่ข้อมูลโครงการของรัฐ โดยก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการต้องเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ ดังนี้
2.2.1 ข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ตามระเบียบฯ ข้อ 7 (เหตุผลความจำเป็น สาระสำคัญ ผู้ดำเนินการ สถานที่ที่จะดำเนินการ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และประมาณการค่าใช้จ่าย)
2.2.2 ต้องเผยแพร่ผ่าน 3 ช่องทาง [(1) ปิดประกาศ ณ สถานที่ปิดประกาศ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ (2) สถานที่ดำเนินโครงการของรัฐ (3) ระบบเครือข่ายสารสนเทศที่ สปน. www.publicconsultation.opm.go.th]
2.3 รับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีที่โครงการของรัฐมีผลกระทบอย่างรุนแรงต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยตามระเบียบฯ ข้อ 5 วรรค 2 โดยดำเนินการ ดังนี้
2.3.1 ก่อนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 15 วัน ต้องประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชน เช่น วิธีการรับฟัง ระยะเวลา สถานที่ และรายละเอียดอื่นๆ ที่เพียงพอ
2.3.2 จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามระเบียบฯ ข้อ 9 เช่น การสัมภาษณ์รายบุคคล การประชาพิจารณ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการสนทนากลุ่มย่อย
2.4 สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเผยแพร่ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ สถานที่ดำเนินโครงการ และ www.publicconsultation.opm.go.th และถ้าผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนปรากฏว่า การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบมากกว่าข้อมูลที่เผยแพร่แก่ประชาชน และยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อไป ต้องกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น ตามความเหมาะสมก่อนดำเนินโครงการ และประกาศให้ประชาชนทราบ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A121036
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ