การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 December 2020 23:19
- Hits: 8363
การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ
1.1 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าวซึ่งเป็นบิดาหรือมารดาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ เพื่อดำเนินการตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และมิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะของคนต่างด้าว
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ... ธันวาคม พ.ศ. 2563
1.2 ให้กรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าว ตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
2. กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด สถานพยาบาลที่กรมการแพทย์ กำหนด และสถานพยาบาลที่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กำหนด ดำเนินการ ดังนี้
2.1 ตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าว โดยใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เป็นหลักฐานแสดงตน และออกใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ
2.2 ประกันสุขภาพคนต่างด้าว รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวเป็นระยะเวลา 2 ปี ตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ โดยสถานพยาบาลต้องตรวจสุขภาพ และออกผลการตรวจสุขภาพ (ใบรับรองแพทย์) ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
3. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ
3.1 ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน ตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ........................
3.2 ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ........................
3.3ให้กรมการจัดหางานเริ่มดำเนินการรับแจ้งรายชื่อ หรือแบบข้อมูลบุคคล ตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
4. ให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ คนต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องทั่วถึง
5. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นบัญชีรายชื่อ หรือการแจ้งแบบข้อมูลบุคคล ตามแนวทางการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญ
การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ มีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย : คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด หรือหลบหนีเข้าเมือง ดังนี้
1.1 คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
1.2 คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
2. การดำเนินการ : แบ่งการดำเนินการตามกลุ่มเป้าหมายในข้อ 1. ดังนี้
2.1 คนต่างด้าวตามข้อ 1.1 ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ดำเนินการ ดังนี้
1) แจ้งรายชื่อคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
2) ให้คนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และโรคต้องห้าม ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยใช้บัญชีรายชื่อตามข้อ 1) เป็นหลักฐานแสดงตน และประกันสุขภาพเป็นระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
3) เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และโรคต้องห้ามแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนด ภายในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564
4) ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรตามวิธีการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
2.2 คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) แจ้งแบบข้อมูลบุคคลตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
2) เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 ตรวจโรคต้องห้าม ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคลตามข้อ 1) เป็นหลักฐานแสดงตน และประกันสุขภาพเป็นระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
3) จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามวิธีการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564
4) เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และโรคต้องห้าม และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนด ภายในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564
5) ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปปรับปรุงทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มี
สัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ตามวิธีการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด
2.3 ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) แจ้งรายชื่อหรือแบบข้อมูลบุคคลแล้วแต่กรณี ตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
2) เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 ตรวจโรคต้องห้าม ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยใช้บัญชีรายชื่อหรือแบบแจ้งข้อมูลบุคคลตาม 1) แล้วแต่กรณี เป็นหลักฐานแสดงตน และประกันสุขภาพเป็นระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
3) จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามวิธีการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564
3. การดำเนินการทางกฎหมาย ดังนี้
3.1 กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าว รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อ 2. และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงแรงงานตาม (2) หากนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน และเงื่อนไขดังกล่าว ให้ถือว่าการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด
3.2 กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการทำงาน และการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ทั้งนี้ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว เพื่อให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานเป็นไปด้วยความเท่าเทียมกัน
4. ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าว ซึ่งต่อมามีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และสามารถทำงานได้ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หากนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามวิธีการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนด และเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานแล้ว ให้คนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ตามวิธีการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด
5. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลให้ยื่นขอหนังสือ คนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563
6. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ อาทิ ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ค่าตรวจคัดกรองโควิด – 19 ค่าตรวจโรคต้องห้าม ค่าประกันสุขภาพ ค่าจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระบียบของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
7. เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้กรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แนวทางการดำเนินการผ่อนผันคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ให้นายจ้าง/สถานประกอบการคนต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องทั่วถึง และให้กรมการจัดหางานเริ่มดำเนินการรับแจ้งรายชื่อ หรือแบบข้อมูลบุคคล ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
8. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นบัญชีรายชื่อ หรือการแจ้งแบบข้อมูลบุคคล ตามข้อ 2. ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ผลกระทบ
1. การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ จะทำให้สามารถดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม และป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มคนต่างด้าว สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ
2. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด หรือหลบหนีเข้าเมือง ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงคนต่างด้าวได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ตามสิทธิที่พึงได้รับ
3. แนวทางการดำเนินการดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนที่มีความต้องการใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดำเนินการให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟู เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
1. งบประมาณจากต้นสังกัดของแต่ละหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการเป็นลำดับแรก
2. กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A121026
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ