ผลการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 December 2020 22:51
- Hits: 7662
ผลการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2563 ด้วยรูปแบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 26 สรุปผลการประชุมฯ ได้ ดังนี้
1.1 การทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งกัวลาลัมเปอร์ ปี 2559 – 2568 ระยะกลาง รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนยินดีต่อผลการทบทวนยุทธศาสตร์ฯ และให้การรับรองข้อเสนอแนะจากการทบทวนและปรับปรุงแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งได้รวบรวมข้อริเริ่มเกี่ยวกับการขนส่งและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยจะใช้เป็นแผนดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2568 และมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเริมแผนการฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุม
1.2 การขนส่งทางอากาศ รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ (1) พิธีสาร 2 สถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมสำหรับใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานกระบวนการรับรองสถานบันฝึกอบรมด้านการบินที่ประเทศสมาชิกจะให้การยอมรับร่วมกัน (2) แผนแม่บทการเดินอากาศอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการจราจรทางอากาศให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนตลาดการบินเดียวของอาเซียน
1.3 การขนส่งทางบก รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองปฏิญญาบรูไนว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนของอาเซียน ปี 2563 ที่มุ่งเน้นการลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลงอย่างน้อยร้อยละ 50 จากปี 2563 – 2573 และได้เปิดตัววีดิทัศน์ความปลอดภัยทางถนนในอาเซียนที่แสดงถึงความพยายามของอาเซียนในการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนและลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในภูมิภาคในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งรับรองแนวปฏิบัติสำหรับการยกระดับขั้นตอนมาตรฐานการรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ
1.4 การขนส่งทางน้ำ รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนรับทราบการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมเรือสำราญระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือสำราญในพื้นที่ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการพักผ่อนที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังให้การรับรองแนวปฏิบัติ ดังนี้ (1) การบำรุงรักษาร่องน้ำเดินเรือในอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาการทับถมของดินตะกอนบริเวณท่าเรือของประเทศสมาชิกอาเซียน บำรุงรักษาร่องน้ำเดินเรือ และส่งเสริมการใช้ช่องทางการเดินเรือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และ (2) มาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับเส้นทางเดินเรือ ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดทำกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินเรือในภูมิภาคที่มีแนวโน้มการจราจรเพิ่มสูงขึ้น
1.5 การอำนวยความสะดวกการขนส่ง รัฐมนตรีอาเซียนได้เปิดตัวแผนที่โครงข่ายการขนส่งทางบกของอาเซียนบนเว็บไซต์ของอาเซียนเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนในการมองหาโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าในการเตรียมการโครงการนำร่องเพื่อการดำเนินการ ตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารโดยยานพาหนะทางถนนข้ามพรมแดน นอกจากนี้ รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนยินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้สัตยาบันพิธีสาร 2 (ด่านพรมแดนที่กำหนด) และพิธิสาร 7 (ระบบศุลกากรผ่านแดน) ตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนของประเทศที่เข้าร่วมโครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียนแล้ว
1.6 การฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนยินดีต่อการที่ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนและแผนปฏิบัติการในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 และได้ให้การรับรองแนวปฏิบัติในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงาน สายการบิน ทั้งนี้ รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านการขนส่งและที่เกี่ยวข้อง
การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการดำเนินงาน ด้านการขนส่งซึ่งอยู่ภายใต้เสาเศรษฐกิจอาเซียน โดยได้มีการร่วมรับรองเอกสาร จำนวน 10 ฉบับ ที่สะท้อนการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนงานโครงการและความร่วมมือด้านการขนส่งของอาเซียนที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน ปี 2559 – 2568 ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การอำนวยความสะดวกในการขนส่ง และการขนส่ง ที่ยั่งยืน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดการบินเดียวของอาเซียน ตลาดการขนส่งทางทะเลร่วมอาเซียน และการสร้างประชาคมที่มีความปลอดภัยทางถนน
การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากการพัฒนาบุคลากร การเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ผ่านโครงการฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และการขนส่งอย่างยั่งยืน โดยประเทศคู่เจรจาของอาเซียนยังคงให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการขนส่งกับภูมิภาคอาเซียนเพื่อการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันต่อไป
ที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนตระหนักดีถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มี ต่อภาคการขนส่งอย่างรุนแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยได้เน้นย้ำความสำคัญความร่วมมือของอาเซียนที่เข้มแข็งในการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน โดยเฉพาะในภาคการขนส่งซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A121020
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ