ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 December 2020 01:23
- Hits: 12668
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย และให้ คค. ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างหรือขยายถนนโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางบ่อและตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2555 เพื่อสร้างทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับ 4 ปี (ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559) ได้สิ้นผลการบังคับใช้แล้ว ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาใช้บังคับได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนต้องดำเนินโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จึงได้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001
2. ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้รับงบประมาณในการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. สิ้นผลใช้บังคับแล้ว จึงได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนโลจิสติกส์ และการขนส่งในพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบกับพื้นที่สองข้างทางของถนนดังกล่าวมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาขนาดใหญ่ มีหอพักจำนวนมาก และมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่หลายโครงการ จึงต้องมีการพัฒนาโครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้วให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
3. กรมทางหลวงชนบทมีความจำเป็นจะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้การสร้างทางหลวงชนบทตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ และเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งทางบกอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด
4. กรมทางหลวงชนบทได้ศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 816.19 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 17.51 % อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.52 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต โครงการก็จะมีความเหมาะสมมากขึ้นอีก
5. ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างถนนสร้างใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ชนิดผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.00 – 3.00 เมตร พร้อมเกาะกลาง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 4.864 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ122 ไร่ มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมณ 65 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 2,625 ล้านบาท
แผนการดำเนินการ มีดังนี้ (1) กำหนดราคาและจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2565 - 2566 และ (2) เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2567 - 2569ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมมีผู้เห็นด้วยกับโครงการ ร้อยละ 68.97 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณแจ้งว่า จะจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางบ่อ และตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท สป. 2003 กับทางหลวงชนบท ฉช. 3001 มีส่วนแคบที่สุด 200 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 1,600 เมตร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12759
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ