ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 December 2020 05:09
- Hits: 7757
ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
1. โดยที่มาตรา 32 ตรี แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารชนิดหรือประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (16) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายหรือสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการก่อสร้างอาคาร สภาพของอาคาร การบำรุงรักษาอาคารหรือการใช้อาคาร
2. ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว มท. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัย ที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูงของเอกชน ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ดังนี้
1.1 เมื่อได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งให้ก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารแล้ว ก่อนเริ่มดำเนินการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยยื่นหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่มีระยะคุ้มครองตามระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนเริ่มดำเนินการ
1.2 อาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน หรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ที่มีระยะเวลาคุ้มครองไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามอายุใบอนุญาต
2. กำหนดให้การใช้อาคารของเอกชน เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารชุมนุมคน โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ดังนี้
2.1 เมื่อก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารแล้วเสร็จ หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ต้องจัดให้มีการประกันภัยโดยยื่นหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัย เพื่อประกันความรับผิดของบุคคลภายนอกต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ และให้ยื่นหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดของบุคคลภายนอกต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปีที่อยู่ระหว่างการใช้อาคารนั้น
2.2 อาคารที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ต้องจัดให้มีการประกันภัยโดยยื่นหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดของบุคคลภายนอกต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และให้ยื่นหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดของบุคคลภายนอกต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปีที่อยู่ระหว่างการใช้อาคารนั้น
3. กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อครั้ง การได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
4. กำหนดให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการที่ได้ทำการประกันภัยแล้ว ให้แสดงสำเนากรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12397
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ