ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 December 2020 02:20
- Hits: 8372
ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ กห. จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
3. หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ สรุปได้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอยู่ผ่านความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และเพื่อส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างกันบนพื้นฐานของความเป็นเอกราช ความเท่าเทียม อำนาจอธิปไตย บูรณาภาพเหนือดินแดน ผลประโยชน์ร่วมกันและการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของแต่ละฝ่าย
2. ขอบเขตความร่วมมือ เช่น (1) แนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ (2) นโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (3) การจัดการประชุมฝ่ายเสนาธิการระดับอาวุโสระหว่างกองทัพไทยและกองทัพปากีสถานประจำปี โดยภาคีแต่ละฝ่ายสลับกันเป็นเจ้าภาพ (4) การแลกเปลี่ยนข่าวสารและข่าวกรองทางทหาร (5) การฝึกร่วมทางทหาร รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบและการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
3. วิธีการดำเนินความร่วมมือ เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน/ประสบการณ์ทางทหาร การเข้าร่วมหลักสูตรทางทหาร และการประชุม เป็นต้น
4. คณะกรรมการขับเคลื่อน กิจกรรมภายใต้บริบทของบันทึกความเข้าใจฯ หรือกิจกรรมความร่วมมือใดๆ ที่ดำเนินการภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจฯ หรือภายใต้ข้อตกลงส่วนเสริมใดๆ จะอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งจะจัดประชุมปีละ 1 ครั้ง หรือตามที่ตกลงร่วมกันระหว่างคู่ภาคี
5. การให้ความคุ้มครองข่าวสารที่มีชั้นความลับ คู่ภาคีจะคุ้มครองข่าวสารที่มีชั้นความลับที่อาจเข้าถึงได้ภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ โดยสอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของประเทศตนเอง และข่าวสารที่มีชั้นความลับสูงจะถูกส่งมอบผ่านช่องทางที่เป็นทางการหรือช่องทางอื่นๆ ที่ได้ตกลงกันระหว่างคู่ภาคีเท่านั้น [ชั้นความลับ ได้แก่ ลับที่สุด ลับมาก ลับ และ UNCLASSIFIED (ฝ่ายไทยอาจกำหนดระดับชั้นความลับที่สอดคล้องกับข่าวสารที่ถูกกำหนดชั้นความลับนี้)]
6. ค่าใช้จ่าย แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของกำลังพลของตนในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ และในส่วนของโครงการฝึกอบรม หลักสูตรการศึกษาและการฝึกร่วม คู่ภาคีจะตัดสินใจร่วมกันถึงภาระค่าใช้จ่ายก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ
7. สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คู่ภาคีจะให้ความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของภาคีแต่ละฝ่ายโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในของตนเอง การดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกควบคุมโดยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับดังกล่าว
8. การระงับข้อพิพาท ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวข้องกับการตีความ การใช้หรือการนำไปปฏิบัติของบันทึกความเข้าใจฯ จะถูกระงับอย่างฉันมิตร โดยการหารือและเจรจาร่วมกันระหว่างผู้แทนของคู่ภาคี และหากมีความจำเป็นผ่านช่องทางการทูต ปัญหา ข้อแตกต่างและข้อพิพาทใดๆ จะไม่ถูกนำไปดำเนินการทางศาล ทั้งศาลภายใน ศาลระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรม ศาลพิเศษหรือบุคคลที่สาม เพื่อระงับข้อพิพาทเหล่านั้น
9. การมีผลบังคับใช้ ระยะเวลา และการสิ้นสุด จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และต่ออายุโดยอัตโนมัติไปอีก 5 ปี ยกเว้นคู่ภาคีตกลงใจที่จะไม่ต่ออายุการมีผลบังคับใช้เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาของการมีผลบังคับใช้ และแต่ละฝ่ายอาจยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ในเวลาใดก็ได้ โดยการแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรและจะมีผลภายหลังจากได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือน ทั้งนี้ การสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ เว้นแต่จะตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น
การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นการขยายความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศให้มีความครอบคลุมในหลากหลายมิติ และส่งผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การเสริมสร้างความร่วมมืออันดีกับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานยังเป็นโอกาสในการชี้แจงและอธิบายถึงบทบาทของกองทัพในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจขยายผลไปยังประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 ธันวาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12381
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ