รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 23 November 2020 21:44
- Hits: 7488
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ กรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งส่งตัวพนักงานที่อยู่ระหว่างการทดลองงานเข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าว่าจะต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี และโรงพยาบาลดังกล่าวได้ส่งผลการตรวจสุขภาพให้กับบริษัทฯ ซึ่งต่อมาผลการตรวจเกิดรั่วไหล ทำให้พนักงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับความอับอาย และถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ ผู้ร้องเห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
2. กสม. ได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
2.1 ประเด็นร้องเรียนที่ 1 กรณีบริษัทฯ ส่งตัวพนักงานที่อยู่ระหว่างการทดลองงานเข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลฯ ก่อนที่จะบรรจุเป็นพนักงานประจำโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อคัดกรองตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นพนักงาน แต่ระเบียบดังกล่าวมิได้ระบุหรือครอบคลุมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ การตรวจสุขภาพของพนักงานเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี จึงเป็นการดำเนินการเกินความจำเป็นนอกเหนือจากขอบเขตของระเบียบ ดังนั้น การกระทำของบริษัทฯ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงาน โดยอาศัยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ อีกทั้งไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าว่าจะต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อพนักงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้รับรองไว้
2.2 ประเด็นร้องเรียนที่ 2 กรณีบริษัทฯ แจ้งการเลิกจ้างพนักงานผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นการอ้างการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเป็นเงื่อนไข หรือเป็นหลักเกณฑ์ตัดสินว่าพนักงานผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการทำงาน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการจ้างงานโดยอาศัยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทฯ ได้ให้พนักงานคนดังกล่าวไปทำงานกับบริษัทในเครือเดียวกันแล้ว กสม. เห็นว่า หากเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว จึงควรยุติเรื่องในประเด็นนี้
2.3 ประเด็นร้องเรียนที่ 3 กรณีโรงพยาบาลฯ ส่งผลการตรวจสุขภาพของพนักงานอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่บริษัทฯ ตามข้อตกลงที่ทำไว้ และเกิดการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าว ซึ่งผลการตรวจสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย เว้นแต่ได้รับความยินยอมโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การกระทำของโรงพยาบาลฯ ถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับโดยเจ้าของข้อมูลมิได้ให้ความยินยอมอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พม. รง. ศธ. สธ. สคก. แล้ว เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ครม. ควรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เป็นระบบ เหมาะสม และสอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม รวมถึงบริบทของสังคมไทยเพื่อดำเนินการคุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยาบุคคลทุกกลุ่ม จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม |
ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ฉบับประชาชน และได้จัดประชุมคณะทำงานฯ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการและเห็นควรยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นกฎหมายกลางในการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และต่อมาได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลพ.ศ. .... เพื่อศึกษาข้อมูลและสถิติข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง |
|
2. รง. ควรมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม และผลักดันให้สถานประกอบกิจการจัดทำนโยบายการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ตามแนวทางในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และปิดประกาศไว้ในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
|
รง. โดย กสร. ได้จัดทำหนังสือถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และในกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงานในเรื่องดังกล่าว และได้มีหนังสือประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อมิให้นายจ้างเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีของลูกจ้างโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง หากละเมิดจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณา แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อยกร่างประกาศกระทรวงแรงงานฯ โดยมีข้อกำหนดที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการขนาดเล็กหรือที่ยังไม่มีความพร้อมให้สามารถนำข้อปฏิบัติต่างๆ ไปใช้ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมเนื้อหาของแบบตรวจของพนักงานตรวจแรงงานให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ และพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้มีการคุ้มครองสิทธิและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการจัดหางานพิจาณณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อคุ้มครองคนหางานโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีในช่วงการสมัครงาน
|
|
3. สธ. ควรบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลในการควบคุมให้สถานพยาบาลหรือสถานบริการทางการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะการรักษาความลับของข้อมูลด้านสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจหรือผู้ป่วย ตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 นโยบายแห่งชาติว่าด้วยการตรวจเอดส์ และแนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับเอชไอวีอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสิทธิและความเสมอภาคของผู้ติดเชื้อเอชไอวี |
สธ. ได้แจ้งเวียนแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยให้กับผู้ประกอบการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลประเภทคลินิก เพื่อแจ้งแนวปฏิบัติเรื่องการปกปิดข้อมูลความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วยให้ทราบ และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วกัน พร้อมทั้งได้จัดทำประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งระบุชัดเจนว่า ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอม หรือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วย หรือตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เรื่อง แนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริการจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้หน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานในการป้องกัน ดูแล และคุ้มครองสิทธิบุคลากรในหน่วยงานให้ปลอดภัยจากเอชไอวีด้วยความสมัครใจ รวมถึงจัดทำแนวทางการบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับสถานบริการสุขภาพ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิผู้ป่วยให้กับบุคลากร/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11650
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ