รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 November 2020 23:05
- Hits: 8664
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน ปี 2563
ภาพรวมส่งออกของไทย มีการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการคาดการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกของ IMF มีมุมมองบวกมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.86 ขณะที่การส่งออก 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) หดตัวร้อยละ 7.33
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ขณะที่ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงสำหรับประเทศที่มีการระบาดรุนแรงในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเมียนมา
ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะจีน ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.86 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 17,391.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.08 การค้าเกินดุล 2,230.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 172,996.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.33 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 152,372.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.64 ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 20,623.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกันยายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 609,838.49 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.24 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 548,019.22 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.59 การค้าเกินดุล 61,819.27 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 5,387,040.22 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.69 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า4,805,888.12 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 15.14 ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 581,152.10 ล้านบาท
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.1 (YoY) หลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 435.3 (ขยายตัวในอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา จีน และกัมพูชา) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ที่ร้อยละ 50.3 (ขยายตัวในจีน สหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 29.5 (ขยายตัวในจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 17.7 (ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และเยอรมนี) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 59.9 (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม) ข้าว หดตัวร้อยละ 22.7 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ แคเมอรูน ฮ่องกง และจีน) ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 12.2 (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ตุรกี และบราซิล) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.8 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.8
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.9 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่มีทิศทางการหดตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 34.1 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง บราซิล ญี่ปุ่น และจีน) ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 29.7 (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม และมาเลเซีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 27.2 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 26.3 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และมาเลเซีย) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 25.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม มาเลเซีย อาร์เจนติน่า และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 21.2 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ที่ร้อยละ 14.6 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ) ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 154.9 (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 58.9 เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.7 (หดตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก และเนเธอร์แลนด์) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.3 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ เวียดนาม จีน แม็กซิโก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 13.6 (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย) ทองคำ กลับมาหดตัวในเดือนนี้ที่ร้อยละ 9.2 (หดตัวในออสเตรเลีย ฮ่องกง และอิตาลี) ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.3
ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ มีดังนี้ 1) การส่งออกไปตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 6.3 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.7 ขณะที่ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาก โดยหดตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ 2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 8.1 จากการส่งออกไปอาเซียน(5) CLMV และเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 15.6 4.8 และ 6.3 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 10.1 ตามการส่งออกไปตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 26.1 ลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 14.5 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 31.5 และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 15.3 ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 2.1
2. แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563
การส่งออกไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้ง รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่แม้จะยังหดตัว แต่มีการหดตัวลดลงซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และเมื่อพิจารณารวมกับการกลับมาขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีของการส่งออกไทยที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี
มาตรการส่งเสริมการส่งออก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เร่งผลักดันสินค้าไทยผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยใช้การเจรจาออนไลน์เพื่อหาออเดอร์ส่งออก ปรับรูปแบบการอบรมสัมมนาโดยผ่าน Facebook Live Webinar และ Zoom เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ได้เร็ว ลดการเดินทาง และสอดรับกับวิถีชีวิตยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหาร ตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหาร และเป็นการรับรองว่าสินค้าไทยปราศจากเชื้อในกระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารของไทยสามารถขยายการส่งออกและเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤศจิกายน 2563
A11469
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ