ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 November 2020 22:02
- Hits: 8452
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อสถานการณ์โควิด-19 ในอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกำหนดทิศทางการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยแจ้งว่า ในการรับมือโควิด-19 ไทยมุ่งมั่นการรักษาความสมดุลระหว่างการสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก รวมถึงเน้นย้ำบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาค
ที่ประชุมได้ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาอุปสรรคทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน (2) บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (3) เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมจต่างๆ ประมาณ 50 โครงการ เช่น การเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์และเคมีภัณฑ์ การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย นอกจากนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นยังมุ่งมั่นให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2563
ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้มีการปรับปรุงไปจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 โดยญี่ปุ่นขอเสนอเพิ่มเติมการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้
1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ยกระดับระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าหมายจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ในปีงบประมาณ 2563 ของญี่ปุ่น (1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2564)
2. การดำเนินโครงการประกันสินเชื่อโดยองค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance: NEXI) จัดตั้งโครงการประกันสินเชื่อวงเงิน 1.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 443,000 ล้านบาท) เพื่อรองรับการให้วงเงินกู้หมุนเวียนแก่บริษัทในเครือของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวมทั้งอาเซียน ซึ่งให้ความคุ้มครองในกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ซื้อในต่างประเทศ ความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงทางการเมือง และความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยรวมถึงโควิด-19
3. ความร่วมมือด้านการรับประกันต่อระหว่าง NEXI กับองค์กรสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency: ECA) ของอาเซียน สนับสนุน ECA ของอาเซียนให้สามารถรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจรับประกันได้มากขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจในอาเซียน
4. ความร่วมมือด้านการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ให้ Japan Association for Smart Cities in ASEAN (JASCA) สนับสนุนเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอิจฉริยะในอาเซียน
5. การจัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น
6. โครงการเสริมสร้างศักยภาพการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องของอาเซียน โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมายังอาเซียนและการเชิญผู้ฝึกงานของอาเซียนไปยังญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาและส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานและเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. โครงการสาธิตเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศสมาชิกอาเซียน ให้องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization: NEDO) ดำเนินโครงการสาธิตการใช้พลังงานและเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอาเซียน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอความร่วมมือระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและอาเซียน
ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ โดยเพิ่มเติมข้อเสนอของญี่ปุ่นดังกล่าวข้างต้นเป็นการปรับปรุงส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ อีกทั้งยังเป็นการขยายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลุงทุนรายใหญ่ของไทยในการขยายการค้าและการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤศจิกายน 2563
A11460
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ